วิโรจน์ เปิด ‘ยุทธการโรยเกลือ’ ร้องสอบนายกฯ 3 ปมฉาว จี้ลาออกรักษาเกียรติภูมิ
อาคารอนาคตใหม่, กรุงเทพฯ – เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 เม.ย.2568 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน ได้แถลงข่าวถึงการดำเนินการต่อเนื่องภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยประกาศเดินหน้า ‘ยุทธการโรยเกลือ’ ซึ่งเป็นการใช้กลไกของหน่วยงานรัฐตรวจสอบผู้มีอำนาจ โดยล่าสุดได้ยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็นสำคัญ พร้อมทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง
ประเด็นที่ 1: ข้อสงสัยการหลีกเลี่ยงภาษีจากการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (ตั๋ว PN)
นายวิโรจน์ กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋ว PN จำนวน 9 ฉบับ มูลค่ารวม 4,434.5 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นจากบุคคลในครอบครัวและเครือญาติ โดยระบุว่าตั๋ว PN ดังกล่าวไม่มีการกำหนดวันชำระเงินและไม่มีดอกเบี้ย ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นเจตนาที่แท้จริงในการหลีกเลี่ยงการชำระภาษีการรับให้ มูลค่าประมาณ 218.7 ล้านบาท ซึ่งต้องเสียให้กับแผ่นดิน
นายวิโรจน์ ชี้ว่า จากพฤติการณ์ที่ปรากฏ หุ้นดังกล่าวได้เปลี่ยนมือมาอยู่ในมือนายกฯ อย่างสมบูรณ์ และนายกฯ ก็ได้รับประโยชน์จากการถือหุ้น รวมถึงเงินปันผลแล้ว แต่ยังไม่มีการชำระเงินค่าซื้อหุ้นแต่อย่างใด การไม่มีภาระในการชำระเงินและดอกเบี้ย ทำให้พฤติกรรมดังกล่าวมีลักษณะเป็นการ ‘ทำนิติกรรมอำพราง’ ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่งสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินของรัฐ
พรรคประชาชนได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรวินิจฉัยกรณีนี้ ตามมาตรา 13 (7) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ยืนยันว่าสามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก ทั้งสัญญาซื้อขาย สัญญาตั๋ว PN ย้อนหลัง เพื่อบ่งชี้เจตนา หากคณะกรรมการฯ วินิจฉัยว่าเป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี จะมีการติดตามให้ชำระภาษีย้อนหลัง และแจ้ง ป.ป.ช. เพื่อไต่สวนความผิดตามมาตรา 172 (ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต) และมาตรา 167 (ยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ) ของ พ.ร.ป. ป.ป.ช.
นายวิโรจน์ เน้นย้ำว่า แม้จะมีช่องว่างทางกฎหมายที่ทำให้หลีกเลี่ยงได้ แต่ผู้นำประเทศมีหน้าที่ต้องปิดช่องว่าง ไม่ใช่ฉกฉวยโอกาสแสวงหาประโยชน์
ประเด็นที่ 2: ข้อสงสัยโฉนดที่ดินโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่
นายวิโรจน์ กล่าวถึงโฉนด 4 แปลง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ ว่า ที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นที่ดินสงวนไว้เพื่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ตามมติ ครม. ปี 2514 ซึ่งห้ามออกโฉนดโดยเด็ดขาด ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 แม้จะมีประกาศคณะปฏิวัติปี 2515 เรื่องนิคมสร้างตนเองลำตะคอง หรือมติคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติปี 2527 ที่อนุญาตให้ครอบครองเพื่อทำประโยชน์ แต่เอกสารเหล่านี้ไม่ได้ยกเลิกหรือแก้ไขมติ ครม. ปี 2514 และไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์
ด้วยเหตุผลดังกล่าว พรรคประชาชนเชื่อว่าการออกโฉนดทั้ง 4 ฉบับ เป็นการออกโฉนดที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อดำเนินการเพิกถอนโฉนดทั้ง 4 ฉบับแล้ว และจะติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
ประเด็นที่ 3: ข้อสงสัยปมอภิสิทธิ์ นายทักษิณ ชินวัตร
ประเด็นสุดท้าย นายวิโรจน์ กล่าวถึงข้อสงสัยที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับอภิสิทธิ์มากกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ซึ่งเป็นการทำลายนิติรัฐและหลักความเสมอภาค นายวิโรจน์ เชื่อว่าในฐานะบุตรสาว น.ส.แพทองธาร นายกฯ ย่อมทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการได้รับสิทธิ์ของบิดาเป็นอย่างดี แต่เมื่อสังคมมีข้อสงสัยและวิจารณ์ กลับเบี่ยงเบน ซ่อนเร้นข้อเท็จจริง ปล่อยให้ความคลุมเครือดำรงอยู่ ซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นในหลักนิติรัฐ
พฤติการณ์ดังกล่าว เข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 172 พ.ร.ป. ป.ป.ช. (ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต) และมาตรา 11 (1) ของ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (มิได้สั่งการให้สอบสวนข้อเท็จจริงการปฏิบัติราชการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) กรณีนี้ พรรคประชาชนได้มอบหมายให้นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค ดำเนินการร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อไต่สวนและชี้มูลความผิดต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
ไม่ใช้กลไก ‘มรดกบาปการรัฐประหาร’ จี้ นายกฯ ลาออกเอง
สำหรับข้อเรียกร้องให้ใช้กลไกจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ เพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี นายวิโรจน์ ชี้แจงว่า พรรคประชาชนจะไม่ใช้กลไกเหล่านี้ ทั้งการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 170, 82) หรือการยื่น ป.ป.ช. เพื่อส่งเรื่องศาลฎีกา (มาตรา 235, 244) เพราะมองว่ากลไกเหล่านี้เป็น ‘มรดกบาปของการทำรัฐประหาร’ ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เปรียบเสมือนการใช้ ‘ผ้าที่สกปรกถูบ้าน’ หรือ ‘น้ำเน่าไล่น้ำเสีย’ ซึ่งจะทำให้บ้านเมืองติดอยู่ในวงเวียนนิติสงคราม
นายวิโรจน์ ย้ำว่า ในเรื่องของจริยธรรม ผู้นำประเทศควรมี ‘โอตัปปะ’ มีความสำนึกในตนเอง และแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะด้วยการลาออกจากตำแหน่งโดยสมัครใจ เพื่อรักษาเกียรติภูมิของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องรอให้กลุ่มบุคคลที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนเป็นผู้ชี้ขาดไล่ออก ซึ่งจะเป็นการทำร้ายเกียรติภูมิของประเทศอย่างไม่อาจประเมินค่าได้
พรรคประชาชนจะยังคงเดินหน้าใช้กลไกของ ป.ป.ช. และหน่วยงานราชการ เช่น กรมสรรพากร กรมที่ดิน ในการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และหากพบความทุจริตหรือความไม่ถูกต้อง จะใช้กลไก ป.ป.ช. ดำเนินการกับนายกรัฐมนตรีต่อไป ยืนยันว่าการจัดการกับสิ่งที่ไม่ชอบธรรม ต้องใช้วิธีการที่ชอบธรรม ไม่เช่นนั้นก็จะไม่แตกต่างจากผู้ที่กำลังตรวจสอบ