หญิงม่ายลูกแฝดถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน 6.2 แสนบาท สูญเงินประกันชีวิตสามี

วันที่ 8 เม.ย.2568 ที่มูลนิธิปวีณาฯ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นางนิด (นามสมมติ) อายุ 44 ปี พร้อมลูกสาวฝาแฝด 2 คน อายุ 14 ปี เดินทางมาจากจ.ฉะเชิงเทรา เข้าร้องทุกข์ต่อ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี แจ้งว่า ตนเองมีอาชีพเป็นเกษตรกรชาวนาและเลี้ยงปลาส่งขาย ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกสูญเงินไปกว่า 6.2 แสนบาท

ซึ่งเงินดังกล่าวเป็นเงินที่ได้จากประกันชีวิตของสามีที่เพิ่งเสียไปเมื่อเดือน พ.ย.67 ตั้งใจว่าจะเก็บไว้ให้ลูกฝาแฝดได้เรียนหนังสือแต่กลับมาถูกหลอกจนแทบหมดตัว โดยเหตุเกิดช่วงบ่ายวันที่ 2 เม.ย.2568 จู่ๆ มีเบอร์หมายเลข 092-091-8772 โทรเข้ามาหาตนเป็นเสียงผู้หญิง บอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากค่ายโทรศัพท์มือถือพร้อมกับบอกข้อมูลส่วนตัว ชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชนของตนได้ถูกต้อง

โดยกล่าวหาว่าตนมีการนำบัตรประชาชนไปเปิดเบอร์โทรศัพท์มือถือโทรไปก่อกวนคนอื่นได้รับความเดือดร้อนจนมีการร้องเรียนเข้ามา ซึ่งตนได้ปฏิเสธว่าไม่เคยทำเรื่องดังกล่าว จากนั้นผู้หญิงคนดังกล่าวได้ส่งโทรศัพท์ไปให้กับผู้ชายอีกคนที่อ้างตัวว่าเป็นตำรวจโรงพักแห่งหนึ่งในพื้นที่จ.อุตรดิตถ์ มาคุยกับตนและกล่าวหาว่าตนเปิดบัญชีเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินจะต้องถูกดำเนินคดี ติดคุก ถูกยึดทรัพย์ ตนตกใจมากพยายามอธิบายว่าไม่เคยทำเรื่องผิดกฎหมาย

ผู้ชายที่อ้างเป็นตำรวจจึงได้ให้ตนแอดไลน์คุยวิดีโอคอล ตนก็เห็นว่าผู้ชายคนนี้แต่งเครื่องแบบตำรวจนั่งอยู่ในโรงพักและเขายังโชว์บัตรตำรวจให้ดูจึงคิดว่าเขาเป็นตำรวจจริง หลังจากนั้นเขาก็อ้างว่าจะช่วยไม่ให้ถูกดำเนินคดี โดยให้ตนแสดงความบริสุทธิ์ใจโอนเงินไปตรวจสอบถ้าไม่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินจะโอนเงินคืนให้ พร้อมกับย้ำให้ตนโอนจากแอปธนาคารในมือถือเท่านั้น

แต่ในแอปธนาคารมือถือมีเงินไม่มาก เขาก็ให้ตนไปถอนเงินเก็บจากธนาคารซึ่งเป็นเงินประกันชีวิตของสามีที่เสียไปแล้ว 650,000 บาท ก่อนจะโอนเงินผ่านแอปธนาคารในมือถือวันที่ 2 เม.ย. จำนวนถึง 10 ครั้ง รวมเป็นเงิน 626,000 บาท ซึ่งบัญชีปลายทางเป็นชื่อของชายและหญิง 2 คน รวม 3 ธนาคาร ตลอดเวลาที่แชทไลน์และวิดีโอคอลเขาจะบอกตลอดว่าอย่าไปบอกใคร

ต่อมาช่วงสายของวันที่ 3 เม.ย.2568 เขาก็ได้วิดีโอคอลมาอีกบอกให้ตนโอนเงินไปตรวจสอบเพิ่ม แต่ตนไม่มีเงินแล้วจึงได้ถามกลับไปว่าแล้วจะโอนเงินคืนให้เมื่อไหร่ เขาบอกให้ตนไปที่โรงพักใกล้บ้านแล้วเขาจะคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในโรงพักเพื่อจะได้ทำบันทึกเป็นหลักฐานในการโอนเงินคืนให้ ตนหลงเชื่อจึงรีบเดินทางไปที่สภ.เมืองฉะเชิงเทรา เพื่อจะขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบนโรงพักช่วยคุยโทรศัพท์และหวังว่าจะได้รับโอนเงินคืน

แต่เมื่อตนโทรฯ กลับไปหาชายที่อ้างเป็นตำรวจหลายครั้งก็ไม่สามารถติดต่อได้อีกจึงรู้ว่าถูกมิจฉาชีพหลอก วันนั้นตนจึงได้แจ้งความที่สภ.เมืองฉะเชิงเทรา และเดินทางมาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิปวีณาฯ เพื่อช่วยติดตามคดี

หลังรับเรื่อง นางปวีณา ได้ประสาน พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. พ.ต.อ.ภูริทัต บุญช่วย ผกก.สภ.เมืองฉะเชิงเทรา เพื่อขอปิดบัญชีผู้เสียหาย ตรวจสอบเส้นทางการโอนเงิน และช่วยเร่งติดตามจับกุมผู้กระทำผิดที่เป็นขบวนการคอลเซ็นเตอร์

นางปวีณา กล่าวว่า เคสนี้น่าสงสารมากเป็นหญิงม่ายที่เพิ่งสูญเสียสามีไปไม่นาน มีอาชีพทำนาปลูกข้าว แต่ไม่มีที่นาเป็นของตนเองยังต้องเช่าที่นาคนอื่นอยู่ และต้องเลี้ยงลูกสาวฝาแฝด 2 คนที่เพิ่งเรียนอยู่ชั้นม.2 เพียงลำพัง ได้เงินฌาปนกิจศพประกันชีวิตของสามีมาหวังจะเก็บเอาไว้ให้ลูกเรียนหนังสือแต่ต้องมาเจอแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกจนหมดตัว

ขณะนี้ได้ประสาน พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. พ.ต.อ.ภูริทัต บุญช่วย ผกก.สภ.เมืองฉะเชิงเทรา ขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินที่โอนไปและช่วยเร่งติดตามจับกุมขบวนการคอลเซ็นเตอร์มาดำเนินคดี และขอให้หน่วยงานทั้งหลายรวมถึงกระทรวงมหาดไทยช่วยประชาสัมพันธ์เตือนภัยประชาชนและชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลเรื่องของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ผ่านมาแม้จะมีการปราบปรามอย่างหนักแต่ก็ยังมีคนโดนหลอกมาตลอด

สำหรับการช่วยเหลือเคสนี้นางปวีณา ห่วงใยลูกสาวฝาแฝดทั้ง 2 คนของผู้เสียหายในเรื่องของการศึกษาเล่าเรียน เพราะครอบครัวฐานะยากจน ซึ่งจะได้ประสาน ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ให้การช่วยเหลือ และจะประสาน นางปราณี ประทุมมา พมจ.ฉะเชิงเทรา เกษตรกรจังหวัด นายอำเภอ ช่วยเหลือครอบครัวในเรื่องของการประกอบอาชีพและเงินช่วยเหลือ พร้อมประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการช่วยต่อไป

นางปวีณา กล่าวเตือนภัยพี่น้องประชาชนให้ระวัง เมื่อได้รับโทรศัพท์จากเบอร์ที่ไม่รู้จัก และอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ตั้งสติ อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด และให้รีบวางสายทันที สำหรับสถิติรับเรื่องราวร้องทุกข์ของมูลนิธิปวีณาฯ ปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม – 31 ธันวาคม 2567 จำนวน 5,647 ราย พบปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่ร้องทุกข์มูลนิธิปวีณาฯ พุ่งสูงขึ้น 668 เรื่อง 1.หลอกลงทุน 318 ราย เสียหายกว่า 3 พันล้าน 2.หลอกเป็น call center 64 ราย 3.หลอกถ่ายคลิปลามก 105 ราย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *