อุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์ โต้ ‘ทราย สก๊อต’ แจง 5 ปมร้อนชาวมอแกน ยันไร้ใช้แรงงานเด็ก-ดูแลเต็มที่
พังงา – อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณี “ทราย สก๊อต” โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับชาวไทยมอแกน ยันหลายประเด็นเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ปฏิเสธข้อกล่าวหาใช้แรงงานเด็กอย่างเป็นทางการ ระบุเด็กๆ มากับผู้ปกครอง ได้รับอาหารฟรี พร้อมแจงละเอียดอีก 4 ประเด็น ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย การช่วยเหลือผู้เสียชีวิต พฤติกรรมการถ่ายภาพ และกิจกรรมของคุณทราย สก๊อต กับเด็กๆ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567
วันที่ 4 พฤษภาคม 2568 นายเกรียงไกร เพาะเจริญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ได้รายงานชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณีที่มีการเสนอข้อมูลในเฟซบุ๊กชื่อ “ทราย – Merman” เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ โดยทางอุทยานฯ ขอชี้แจงในประเด็นต่างๆ ที่ถูกกล่าวถึง จำนวน 5 ประเด็น ดังนี้
1. ประเด็นการอยู่อาศัยของพี่น้องชาวไทยมอแกน บริเวณอ่าวบอนใหญ่ เกาะสุรินทร์ใต้: หัวหน้าอุทยานฯ ชี้แจงว่า ในอดีตชาวมอแกนใช้ชีวิตบนเรือเป็นหลัก จะขึ้นมาอาศัยบนเกาะชั่วคราวช่วงฤดูมรสุม หลังเหตุการณ์สึนามิปี 2547 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ทางอุทยานฯ จึงขอความร่วมมือให้อพยพมาอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งบริเวณอ่าวบอนใหญ่ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจุบันมีหน่วยงานราชการดูแลสนับสนุน ทั้งศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยมอแกน (หลักสูตร กศน.) ที่มีครูประจำ 4 อัตรา และศูนย์สาธารณสุข
2. ประเด็นการใช้แรงงานเด็ก: ทางอุทยานฯ มีการจ้างแรงงานชาวไทยมอแกนที่เป็นผู้ใหญ่เข้าทำงาน ส่วนการจ้างโดยบริษัททัวร์ มีอัตราค่าจ้างสำหรับผู้ใหญ่ 8,000 – 12,000 บาทต่อเดือน ยังไม่รวมค่าทิปจากนักท่องเที่ยว สำหรับประเด็นการจ้าง/ใช้แรงงานเด็ก ที่ผู้โพสต์นำเสนอออกสื่อ ทางอุทยานฯ ยืนยันว่าเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยชี้แจงว่า เด็กๆ มักจะมากับพ่อแม่หรือญาติที่ทำงานกับอุทยานฯ หรือบริษัททัวร์ ซึ่งทางอุทยานฯ จะเลี้ยงอาหารทั้งมื้อเช้าและเที่ยงตลอดทุกวันที่เด็กๆ มาด้วย ส่วนกรณีเด็กๆ ที่มากับญาติซึ่งเป็นคนขับเรือหางยาวของบริษัททัวร์ ส่วนใหญ่เด็กๆ จะตามมาเพื่อเล่นน้ำ ไม่ได้มาเป็นประจำทุกวัน และทางบริษัททัวร์ได้ยืนยันว่า ไม่มีการจ้างหรือใช้แรงงานเด็กแต่อย่างใด
3. ประเด็นการไม่ช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้เสียชีวิต: หัวหน้าอุทยานฯ กล่าวว่า ได้ประสานกับนายตะวัน กล้าทะเล ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านมอแกน และเป็นญาติกับผู้เสียชีวิต โดยนายตะวันฯ แจ้งว่า หลังจากทราบข่าวการเสียชีวิต ตนได้นำเรือหางยาวส่วนตัวขึ้นฝั่งเพื่อไปเคลื่อนย้ายผู้เสียชีวิตและทำเอกสารต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่ได้มาติดต่อขอความช่วยเหลือจากทางอุทยานฯ เนื่องจากมองว่าสามารถดำเนินการเองได้
4. ประเด็นการให้เด็กผู้ชายถอดเสื้อเพื่อถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวผู้หญิง: ทางอุทยานฯ ได้ตรวจสอบกับบริษัททัวร์ และได้รับการยืนยันว่า ไม่เคยมีการบังคับหรือใช้งานให้เด็กผู้ชายถอดเสื้อเพื่อถ่ายรูป และตั้งแต่มีการทำทัวร์ในพื้นที่ ไม่เคยมีพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น ทางอุทยานฯ ชี้แจงตามวิถีชีวิตของชาวไทยมอแกนผู้ชายที่ขับเรือหางยาวหรือพานักท่องเที่ยวเล่นน้ำว่า หลังจากทำงานเสร็จ พวกเขาจะถอดเสื้อเป็นประจำตามปกติ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อถ่ายภาพกับนักท่องเที่ยว และไม่ได้ถูกบังคับให้ถอดเสื้อแต่อย่างใด
5. ประเด็นกิจกรรมของคุณทราย สก๊อต กับเด็กๆ เมื่อเดือน ก.พ. 2567: หัวหน้าอุทยานฯ กล่าวถึงเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 6-9 กุมภาพันธ์ 2567 ที่คุณทราย สก๊อต พร้อมทีมงาน เดินทางมาที่อุทยานฯ โดยแจ้งวัตถุประสงค์ว่าจะสำรวจ/ติดตามสถานภาพทรัพยากรใต้น้ำ/เก็บขยะ แต่ได้ไปติดต่อกับเด็กชาวมอแกน 2 คนเป็นการส่วนตัวโดยตรง โดยไม่ได้แจ้งให้พ่อแม่ผู้ปกครองหรือทางอุทยานฯ ทราบ คุณทรายฯ แจ้งกับเด็กๆ ว่าจะชวนไปทำคอนเทนต์เก็บขยะใต้ทะเลด้วยวิธีการดำน้ำแบบฟรีไดฟ์ จากการสอบถามเด็กๆ แจ้งว่า คุณทรายฯ ไม่ได้ให้ค่าจ้างเป็นเงิน แต่ให้สิ่งของแทน (แว่นตา กางเกง เสื้อ) คนละ 1 ชุด ต่อมาคุณทรายฯ พยายามนัดเด็กๆ ไปดำน้ำเก็บขยะอีก แต่เด็กๆ บอกว่าเหนื่อย ไม่ไหว คุณทรายฯ ได้เจรจา 2-3 ครั้ง แต่เด็กๆ ยืนยันไม่ไปจึงหยุดชวน
การชี้แจงของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์นี้ มีขึ้นเพื่อตอบโต้ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกไป โดยยืนยันการดูแลความเป็นอยู่ของชาวไทยมอแกน และปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเด็กและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงตามมุมมองของหน่วยงาน