สงครามการค้า ‘America First’ สหรัฐฯ กระทบส่งออกไทย EXIM BANK เร่งออกมาตรการช่วย SMEs
หลังจากการเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ รัฐบาลสหรัฐฯ ก็เริ่มวางกรอบทิศทางการดำเนินนโยบายทางการค้าซึ่งใช้ชื่อว่า “นโยบายทางการค้าสหรัฐฯ ต้องมาก่อน” (America First Trade Policy) ทันที นั่นหมายถึงสงครามการค้า 2.0 ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ก็เปิดฉากขึ้น โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก อะลูมิเนียมอีก 25% จากอัตราเดิม ตามมาด้วยการขึ้นภาษีนำเข้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน 25% จากอัตราเดิม ซึ่งทั้ง 2 รายการเป็นการขึ้นภาษีกับทุกคู่ค้า
ทั่วโลกต่างพากันจับตา “การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs)” ที่ยึดเอามูลค่าการขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับแต่ละคู่ค้าเป็นหลัก โดยเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาสหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีที่เรียกเก็บแต่ละประเทศอย่างเป็นทางการ ไทยถูกประกาศขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 36% อัตราภาษีใหม่นี้ทำให้เกิดการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ แบบตาต่อตาฟันต่อฟันของรัฐบาลจีนทันที จนทำให้สหรัฐฯ ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายกับจีนตามสถานการณ์ และได้ประกาศระงับการเก็บภาษีเป็นเวลา 90 วัน และลดอัตราภาษีนำเข้าพื้นฐานเหลือ 10% สำหรับทุกประเทศยกเว้นจีน ทำให้ประเทศคู่ค้าที่มีอำนาจต่อรองกับสหรัฐฯ น้อยมีเวลามากขึ้นในการเตรียมตัวขอเจรจาระดับนโยบายเพื่อหาทางออก
องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ประเมินผลกระทบจากสงครามการค้า 2.0 ว่า จะทำให้การค้าโลกหดตัวและส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงตามไปด้วย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ จะขยายตัวเพียง 2.8% ลดลง 0.5% จากคาดการณ์เดิม
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า แม้ผลกระทบจากสงครามการค้า 2.0 ครั้งนี้ยังไม่ชัดเจน แต่จากการที่ EXIM BANK ได้เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการดำเนินการของไทยต่อกรณีนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและภาคเอกชน มีความเห็นสอดคล้องกันว่าจะมีผลกระทบระยะสั้นคือ จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตต้องจ่ายภาษีมากขึ้น สินค้ามีราคาสูงขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และในต่างประเทศ
ผลกระทบในระยะถัดไปจะเกิดกับห่วงโซ่การผลิตใน Supply Chain บริษัทข้ามชาติต้องปรับตัวต่อภาษีใหม่ ทำให้กระบวนการผลิตซับซ้อนขึ้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาเทคโนโลยีชิ้นส่วนจากจีนและอินเดียจะต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ US Content เป็นต้น
กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2567 ไทยมีมูลค่าส่งออก 300,530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 18% ของมูลค่าส่งออกรวมเป็นการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ หรือคิดเป็นมูลค่า 54,956 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจำนวน 3,700 รายจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าส่งออกราว 7,634 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายบัณฑิต กล่าวว่า รัฐบาลได้หารือวางมาตรการรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมใช้กลไกสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐสนับสนุนเงินทุนให้ผู้ประกอบการไทย เพื่อรับมือมาตรการภาษีสหรัฐฯ โดย EXIM BANK ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีพันธกิจในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยเป็น 3 ระยะ 5 มาตรการ เน้นให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องและสนับสนุนการลงทุน
สำหรับมาตรการบรรเทาผลกระทบที่ EXIM BANK เร่งดำเนินการคือ จัดตั้งคลินิกผู้ประกอบการ (Export Clinic) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ ทั้งผู้นำเข้าและส่งออกที่ได้รับผลกระทบ โดยสนับสนุนทางการเงิน ด้วยมาตรการเยียวยาผ่านการขยายระยะเวลาการชำระหนี้สูงสุด 365 วัน รวมถึงมาตรการเสริมสภาพคล่องและการปรับลดอัตราดอกเบี้ย การให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำแก่ผู้ประกอบการผ่านช่องทางการติดต่อของธนาคาร รวมทั้งให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายภาษีแบบตอบโต้ ตลอดจนผลกระทบและแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ EXIM BANK ยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ขยายตลาดไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยธนาคารมีบริการสินเชื่อเพื่อการร่วมงานแสดงสินค้าและสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการส่งออก พร้อมเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ส่งออกไทยด้วยการให้ความคุ้มครอง 75% ของมูลค่าความเสียหายกรณีผู้ซื้อในต่างประเทศไม่ชำระเงินค่าสินค้า สนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยมิให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ ตามแนวนโยบายของรัฐบาลในระยะถัดไป และสนับสนุนผู้ประกอบการไทยไปลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ
นายบัณฑิต กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ทาง EXIM BANK ได้ติดตามสถานการณ์สงครามการค้า 2.0 นี้ อย่างใกล้ชิด ให้ออกเยี่ยมเยียนลูกค้า สำรวจผลกระทบที่ลูกค้าได้รับ และความต้องการการช่วยเหลืออย่างไร มาตรการเหล่านี้สะท้อนถึงความพยายามของภาครัฐในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถรับมือกับความท้าทายด้านการค้าระหว่างประเทศ รัฐบาลมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้ประกอบการไทย และพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มกำลังเพื่อให้ไทยสามารถยืนหยัดและเติบโตอย่างมั่นคงในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจ