กระทรวงวัฒนธรรม เปิด ‘ชุมชนเขมราษฎร์ธานี’ สุดยอดต้นแบบ ‘เที่ยวชุมชนยลวิถี’ ปี 67 ชูเสน่ห์เมืองริมโขง 200 ปี

อุบลราชธานี – เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ถนนสายวัฒนธรรมเขมราษฎร์ธานี จังหวัดอุบลราชธานี นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ได้เป็นประธานในพิธีเปิดชุมชนเขมราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชนยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมีนายภพ ภูสมปอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายวชิระ วิเศษชาติ นายกเทศมนตรีตำบลเขมราฐ และผู้มีเกียรติจากภาคส่วนต่างๆ รวมถึงพี่น้องประชาชนชาวเขมราษฎร์ธานีเข้าร่วมพิธีอย่างคับคั่ง

กิจกรรมภายในงานเปิดชุมชนเต็มไปด้วยสีสันทางวัฒนธรรม มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่งดงาม เช่น รำตังหวาย และรำตุ้มผ่าง พร้อมทั้งการแสดงโชว์ของดีเมืองเขมราฐ นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม การสัมผัสบรรยากาศถนนสายวัฒนธรรมเขมราษฎร์ธานีที่มีชีวิตชีวา อาทิ การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น เช่น ผ้าฝ้ายย้อมคราม งานใบตอง และของที่ระลึกต่างๆ จากผ้าฝ้ายทอมือ โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโพธิ์เมือง

ไฮไลท์อีกอย่างคือการสาธิตสำรับอาหารพื้นถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ อย่างข้าวผัดน้ำผัก และเครื่องดื่มน้ำหมากค้อ รวมถึงการจัดแสดงผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชนที่น่าซื้อหากลับบ้าน เช่น ผ้าฝ้ายย้อมคราม กล้วยตากแสงแรก ข้าวเม่าคาราเมล แหนมใบมะยม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์และภูมิปัญญาของท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตอาหารในโครงการ “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste ปี 67” ซึ่งในปีนี้เสนอเมนู “วุ้นตาลน้ำกะทิ” ปิดท้ายด้วยกิจกรรมการแข่งขันนักเล่าเรื่องเมืองเขม ณ ลานเยาวชนเขมราฐ ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถและถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชน

ในโอกาสการลงพื้นที่ครั้งนี้ คณะผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรมและคณะ ได้เยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันล้ำค่าในชุมชน เริ่มจากการกราบสักการะพระเจ้าใหญ่องค์แสน พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และขอพรพญานาคราช ณ วัดโพธิ์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานต้นมะขามเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี จากนั้นได้เข้ากราบสักการะพระสิทธิมงคล พระประธานชมเหรา พร้อมชมภาพเขียนสีจิตรกรรมฝาผนังแบบอีสาน หรือ “ฮูปแต้ม” อันเป็นเอกลักษณ์ ณ วัดชัยภูมิการาม (วัดกลาง) และเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ผ้าฝ้ายย้อมคราม (บ้านป้าติ๋ว) เพื่อชมการสาธิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การดีดฝ้าย อิ้วฝ้าย การย้อมด้วยครามธรรมชาติ ไปจนถึงการทอและการจัดจำหน่าย

นางสาวพลอย ธนิกุล กล่าวเน้นย้ำว่า “เขมราษฎร์ธานีเมืองประวัติศาสตร์” เป็นเมืองเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับเมืองสองคอน แขวงสะหวันนะเขตของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เดิมชื่อ ‘เขมราษฎร์’ ก่อนเปลี่ยนเป็น ‘เขมราฐ’ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งทั้งสองชื่อมีความหมายเดียวกันคือ ‘ดินแดนแห่งความเกษมสุข’

ท่านผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ กล่าวต่อไปว่า ชุมชนเขมราษฎร์ธานีเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีผู้นำที่มีศักยภาพ ผนวกกับอัตลักษณ์และคุณลักษณะที่โดดเด่น รวมถึงวิสัยทัศน์และความร่วมมือของคนในชุมชน ที่ต้องการฟื้นฟูบ้านเมืองเก่าแก่ซึ่งเคยมีประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจที่คึกคักในอดีตให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสบรรยากาศที่อบอุ่นตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ จึงได้ก่อเกิดเป็น “ถนนสายวัฒนธรรมเขมราษฎร์ธานี” ซึ่งเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2556 และจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันเสาร์มาจนถึงปัจจุบัน ถนนสายวัฒนธรรมแห่งนี้ เป็นเหมือนประตูเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว ให้ได้มาสัมผัสวิถีชีวิตอันเรียบง่ายและอบอุ่น ท่ามกลางบรรยากาศอาคารบ้านเรือนย้อนยุค การออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน ผ้าทอ หัตถกรรม อาหารพื้นบ้าน ของที่ระลึก รวมถึงการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมกับคนในชุมชนได้อย่างใกล้ชิด

ชุมชนเขมราษฎร์ธานียังมีมุมถ่ายรูปกับบ้านเก่าแก่ในอดีตที่สวยงาม และอาหารพื้นถิ่นที่ไม่ควรพลาดคือ “ข้าวผัดแจ่วน้ำผัก” ซึ่งเป็นอาหารจากภูมิปัญญาท้องถิ่นโบราณที่ได้รับการนำมาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมอาหารจากโรงแรมสุขสงวน โรงแรมแห่งแรกของอำเภอเขมราฐ นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการภาพเก่าแก่ของอำเภอเขมราฐให้นักท่องเที่ยวได้ชม

ปัจจุบัน ถนนสายวัฒนธรรมเขมราษฎร์ธานี ได้รับการพัฒนาและต่อยอดอย่างต่อเนื่องจากทุกภาคส่วน ทั้งส่วนราชการ ภาคเอกชน และองค์กรมหาชน โดยได้รับความร่วมมือที่ดีเยี่ยมจากคนในชุมชน มีการเพิ่มกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การฉายหนังกลางแปลง กิจกรรมในซอยปลาคาบของ และการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงออก ถือเป็นชุมชนที่มีศักยภาพพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนให้ได้สัมผัสเสน่ห์ของวิถีชีวิตริมแม่น้ำโขงอย่างแท้จริง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *