ทรู – ปภ. ทดสอบระบบเตือนภัย Cell Broadcast สำเร็จ ประชาชนอุ่นใจ รับข้อความตรงถึงมือถือในพื้นที่เสี่ยง
กรุงเทพมหานคร – บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ประกาศความสำเร็จในการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติฉุกเฉินผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ Cell Broadcast (CBS) ในระดับเล็ก ซึ่งเป็นการจำลองสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ควบคุมภายในอาคาร ครอบคลุม 5 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย, ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี, ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี, ศาลากลางจังหวัดสงขลา และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคาร A และ B
นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร หัวหน้าสายงานรัฐกิจสัมพันธ์และกำกับดูแล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวภายหลังการทดสอบว่า การทดสอบในวันนี้เป็นโอกาสดีที่ผู้ให้บริการเครือข่ายอย่างทรู ได้ร่วมทดลองและทดสอบประสิทธิภาพของระบบ Cell Broadcast ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจและประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ทำให้ทรูในฐานะโอเปอเรเตอร์มีความมั่นใจมากขึ้นว่าระบบของตนเองสามารถแจ้งเตือนภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันในฐานะประชาชน ก็รู้สึกอบอุ่นใจมากขึ้นที่จะมีระบบที่ช่วยแจ้งเตือนภัยได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
นายนฤพนธ์ อธิบายถึงความโดดเด่นของระบบ Cell Broadcast ว่า มีประสิทธิภาพสูงในการแจ้งเตือนเฉพาะจุด ไม่ว่าจะเป็นระดับอำเภอ จังหวัด หรือแม้กระทั่งระดับประเทศ ซึ่งแตกต่างจากระบบ SMS ทั่วไปที่ใช้เวลาในการส่งนานกว่า และต้องมีการรวบรวมเลขหมายโทรศัพท์ก่อนส่ง แต่ระบบ Cell Broadcast ไม่จำเป็นต้องทราบเลขหมายใดๆ เพียงแค่ประชาชนอยู่ในพื้นที่ที่มีสัญญาณ 4G หรือ 5G โทรศัพท์มือถือก็จะได้รับการแจ้งเตือนภัยโดยอัตโนมัติ และที่สำคัญคือ ประชาชนไม่จำเป็นต้องติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ เลย ทำให้ทุกคนในพื้นที่เสี่ยงสามารถเข้าถึงข้อมูลการแจ้งเตือนได้อย่างทั่วถึง แม้ในพื้นที่ที่สัญญาณอ่อนก็ยังสามารถรับการแจ้งเตือนได้ เป็นการยกระดับความปลอดภัยให้กับประชาชนทุกคน
สำหรับข้อความที่ประชาชนได้รับในการทดสอบครั้งนี้ เป็นข้อความแจ้งเตือนเพื่อซักซ้อมความเข้าใจว่า หากเกิดเหตุการณ์จริง การแจ้งเตือนจะมีลักษณะเช่นนี้ พร้อมมีเสียงแจ้งเตือนประกอบ เพื่อให้ประชาชนคุ้นเคยและเตรียมพร้อมรับมือ
ด้าน นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การทดสอบขนาดเล็กในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการครอบคลุมพื้นที่ของผู้ให้บริการ ซึ่งพบว่าสัญญาณมีการกระจายได้ดี อาจมีล้นไปยังพื้นที่ใกล้เคียงบ้างเล็กน้อย โดยระบบ Cell Broadcast มีข้อดีคือเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือ ประชาชนที่ไม่เคยได้ยินเสียงแจ้งเตือนอาจตกใจ อย่างไรก็ตาม ได้มีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าแล้ว และมั่นใจว่าประชาชนจะรับทราบข้อมูลการส่งดังกล่าวได้
นายภาสกร กล่าวต่อว่า ระบบ Cell Broadcast จำเป็นต้องรองรับกับโทรศัพท์มือถือที่มีการอัปเดตเวอร์ชันระบบปฏิบัติการ โดยปัจจุบันโทรศัพท์ Android ที่มีการอัปเดตเป็นเวอร์ชัน 11 ขึ้นไป มีผู้ใช้งานประมาณ 70 ล้านเลขหมาย และระบบ iOS ที่อัปเดตเป็นเวอร์ชัน 18 ขึ้นไป มีผู้ใช้งานประมาณ 50 ล้านเลขหมาย ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับข้อความผ่านระบบ Cell Broadcast ได้ทันที ส่วนประชาชนที่ยังใช้บริการเครือข่าย 2G และ 3G ซึ่งมีจำนวนประมาณ 3 ล้านเลขหมาย จะยังคงได้รับการแจ้งเตือนผ่านระบบ SMS ควบคู่กันไป โดยจะได้รับข้อความภายในเวลาไม่เกิน 10 นาที เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนทุกคนจะได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน
อธิบดี ปภ. ยืนยันว่า ระบบ Cell Broadcast จะสมบูรณ์และพร้อมใช้งานได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ทำให้ประเทศไทยจะมีระบบแจ้งเตือนภัยที่ทันสมัยทัดเทียมกับประเทศชั้นนำอื่นๆ ในโลก
เมื่อสอบถามถึงความรวดเร็วในการรับมือเหตุการณ์ฉับพลัน เช่น น้ำป่าไหลหลาก นายภาสกร ชี้แจงว่า ปภ. มีข้อปฏิบัติหลัก (SOP) ที่ชัดเจน โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยกลางในการจัดการสาธารณภัยตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 จะเป็นผู้รับข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา (ข้อมูลสภาพอากาศ), กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว (ข้อมูลแผ่นดินไหว), กรมทรัพยากรธรณี, กรมทรัพยากรน้ำ, สทนช., กรมชลประทาน ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้มีผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือในการวัดต่างๆ เป็นผู้ส่งข้อมูลเบื้องต้นมาให้ ปภ. จากนั้น ปภ. มีหน้าที่รับข้อมูล วิเคราะห์ และกระจายข่าว หากเป็นกรณีที่ไม่รุนแรง จะเป็นการรายงานข่าวตามช่องทางปกติ แต่หากเป็นกรณีฉุกเฉิน รุนแรง หรือมีแนวโน้มก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่น น้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำท่วมฉับพลัน จะสามารถใช้ระบบ Cell Broadcast ส่งการแจ้งเตือนถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้ทันที
สำหรับการทดสอบระดับประเทศ นายภาสกร กล่าวว่า หลังจากที่ได้ดำเนินการทดสอบครบถ้วนทั้ง 3 ระดับ และประเมินความพร้อมแล้ว ปภ. จะมีการเชื่อมระบบภาคส่งจาก ปภ. เองเข้ากับภาครับของผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 ค่าย ซึ่งเรียกว่า Cell Broadcast Center เมื่อระบบสมบูรณ์ ปภ. จะสามารถกดส่งการแจ้งเตือนได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านผู้ให้บริการเหมือนในการทดสอบขนาดเล็กที่ส่งผ่าน Line ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและทำให้ข้อมูลที่ส่งถึงประชาชนใช้เวลาไม่เกิน 1 นาที และคาดว่าจะมีการทดสอบระบบใหญ่ทั่วประเทศอีกครั้งก่อนเดือนกรกฎาคมนี้