The Unbreakable Boy หนังที่สอนว่า ‘ถ้าใจเราไม่พัง ชีวิตพังๆ ก็ทำอะไรเราไม่ได้’
ชีวิตพังๆ ก็ทำอะไรเราไม่ได้ น่าจะเป็นนิยามที่เหมาะกับหนังเรื่องนี้สุดๆ เพราะทั้งเรื่อง (ที่ถูกสร้างจากเรื่องจริง) ชีวิตของตัวละครแต่ละคนไม่ง่ายเลย แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้ ใช้ทั้งศรัทธา ความเชื่อใจ ความหวัง และความรัก ฝ่าฟันไปด้วยกันจนมีวันที่หัวใจถูกเติมเต็มในที่สุด
The Unbreakable Boy ตอนได้ยินชื่อ และดูตัวอย่างหนังครั้งแรก เราก็คิดแล้วว่า “เด็กชายผู้ไม่มีวันแตกสลาย” คงหมายถึงตัวละครหลัก “ออสติน” (เจคอบ ลาวาล) ที่เกิดมาพร้อมโรคกระดูกเปราะ (Osteogenesis Imperfecta หรือ OI) ซึ่งเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ และมีภาวะออทิสติก และหนังคงอยากสร้างแรงบันดาลใจเหมือนที่เราเคยดูจากหนังเนื้อเรื่องคล้ายๆ กันก่อนหน้านี้ แต่พอดูแล้วก็ได้รู้ว่า “ผู้ที่ไม่มีวันแตกสลาย” ไม่ใช่แค่ออสติน แต่หมายรวมถึง “สก็อตต์” (แซกคารี ลีวาย) พ่อของเขาที่ต้องเติบโตและเรียนรู้เรื่องราวการใช้ชีวิตไปพร้อมกันด้วย
The Unbreakable Boy หรือชื่อไทยว่า “เด็กชายหัวใจไม่แพ้” สร้างจากเรื่องจริงที่ถูกเขียนเป็นหนังสือ “The Unbreakable Boy: A Father’s Fear, a Son’s Courage, and a Story of Unconditional Love” โดย ซูซี ฟลอรี และ สก็อตต์ เลอเร็ตต์ โดยเนื้อหาหลักๆ มาจากบันทึกของสก็อตต์เอง ที่เขียนถึงเรื่องราวในครอบครัว โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ “ออสติน” ลูกชายคนโตของเขาที่มีโรคประจำตัวและภาวะออทิสติก ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่หลายคนเข้าใจยาก หรือเข้าไม่ถึง แต่สำหรับสก็อตต์ เขาพบว่าหลายอย่างในชีวิตเขาก็ได้เรียนรู้จากการดูแล และเฝ้าสังเกตลูกชายคนนี้
หนังใช้วิธีเล่าเรื่องแบบมีผู้เล่า ซึ่งก็คือ “ออสติน” พูดถึงครอบครัวของเขา โดยเริ่มจากจุดเริ่มต้นของพ่อและแม่ จนกระทั่งมีเขา และน้องชาย แน่นอนว่าเรื่องที่ถ่ายทอดโดยเด็กชายออสตินย่อมไม่ธรรมดา โดยเฉพาะมุมมองต่างๆ ที่เขามีต่อโลกใบนี้ และสิ่งรอบตัว ทำให้เราอดย้อนมามองตัวเราไม่ได้ ที่ในบางขณะมันก็ทำให้เรามองเห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งนั่นเราคิดว่าเป็นหนึ่งในความดีงามของเรื่องนี้
ในครึ่งแรก (ตามประสาพวกไม่ทำการบ้านก่อนดู) เรายังคิดว่า “ออสติน” คือจุดศูนย์กลางของเรื่อง แต่หลังผ่านครึ่งแรก เราก็เริ่มเข้าใจภาพรวมของหนังมากขึ้นว่า “ภาวะแตกสลายได้” ไม่ได้เกิดแค่กับออสตินที่เป็นโรคกระดูกเปราะ แต่มันเกิดกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะมี หรือไม่มีภาวะของโรคก็ตาม
เราว่าหนังทำได้ดีในจุดนี้ ชื่อเรื่อง The Unbreakable Boy ไม่ได้แค่จะสื่อถึงแค่ “ออสติน” ที่มีกระดูกที่เปราะแตกง่ายเท่านั้น แต่หมายถึงสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวที่ต้องหัวใจสลายเพราะปัญหารุมเร้า โดยเฉพาะ “สก็อตต์” ที่ชีวิตพังไม่เป็นท่าเพราะเหล้า และแนวคิดที่ยึดติดกับสิ่งที่ตั้งหวังไว้จนมองไม่เห็นทางออกอื่นที่เป็นไปได้ รวมถึง “เทเรซา” ที่ติดกับดักจากอดีตของตัวเอง และ “โลแกน” น้องชายของออสตินที่เป็นทุกข์เรื่องพี่ชายจนมีเรื่องชกต่อยที่โรงเรียน
แต่แล้วไง ขนาด “ออสติน” ที่กระดูกหักเพราะภาวะโรคประจำตัวไม่รู้กี่ครั้งตั้งแต่เกิด ยังยิ้มกว้างมองโลกอย่างที่มันเป็นไปได้อย่างไม่สะทกสะท้าน แล้วทำไมคนที่กระดูกไม่เปราะอย่างสมาชิกที่เหลือในบ้านจะกอบกู้หัวใจที่แตกสลายไม่ได้?
หนึ่งในฉากที่เราชอบมากที่สุด คือตอนที่ “สก็อตต์” โซซัดโซเซกลับบ้านพ่อและแม่ของเขา พร้อมหัวใจที่แตกสลายเพราะเกือบทำให้ลูกชายสองคนมีอันตรายจากการเมาแล้วขับ แล้วแม่ของเขาก็ยื่นแก้วน้ำชาให้ และบอกให้เขาทำให้แก้วแตก สก็อตต์ทำตามอย่างไม่แน่ใจนัก ตามประสาพวกที่พยายามจะควบคุมทุกอย่างให้เข้ารูปเข้ารอยเสมอ ก่อนจะได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญจากพ่อแม่ว่าความผิดพลาดไม่ใช่ตัวกำหนดหรือตัววัดว่าชีวิตเราแย่แค่ไหน แต่สิ่งที่เราพยายามจะแก้ไขมันต่างหากจะเป็นตัวบอกว่าเราได้เติบโต และใช้ชีวิตมาอย่างดีแค่ไหน
เราว่าหนังให้ข้อคิดที่ลึกซึ้งในจุดนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามอีกจุดของเรื่อง ทั้งการเปรียบเปรยจากชื่อเรื่อง รวมถึงบทเรียนจากการมองดูอาการกระดูกเปราะของ “ออสติน” ที่แม้ว่าจะหักกี่ครั้ง เขาก็ซ่อมมันขึ้นมาใหม่ได้ เพราะเขากำลังใจดี และเพราะเขายังอยากมีชีวิตต่อ ตัวละครอื่นๆ ก็เช่นกัน โดยเฉพาะ “สก็อตต์” ที่ได้บทเรียนครั้งสำคัญในชีวิตที่จะแก้ไขสิ่งที่ตัวเองเคยทำผิด และทำให้ชีวิตพังๆ กลายเป็นชีวิตที่สดใส และมีค่าขึ้นมาอีกครั้ง
นอกจากนี้ เรายังชอบที่หนังไม่ได้เน้นเรื่องราวของโรคและภาวะออทิสติกมากจนเกิดไปให้ใจหดหู่ แต่โฟกัสที่เรื่องราวความเป็นมาของครอบครัว “เลอเร็ตต์” ที่ประกอบไปด้วย “สก็อตต์” (แซกคารี ลีวาย) และ “เทเรซา” (เมแกน ฟาฮี) พ่อและแม่ของ “ออสติน” (เจคอบ ลาวาล) และ “โลแกน” (เกวิน วอร์เลน) สองพี่น้องที่แม้จะมีสภาวะทางร่างกายและสุขภาพที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ทั้งสองคนก็รักกันมาก คอยดูแลและสนับสนุนกันและกันเสมอ
การเล่าที่มาที่ไปของครอบครัวเลอเร็ตต์ ถือเป็นการปูพื้นที่สำคัญ ทำให้เราในฐานะคนดูเข้าใจเงื่อนไขและปัจจัยต่างๆ ของครอบครัวนี้ได้มากขึ้น ซึ่งข้อดีคือจะทำให้เราเข้าใจคาแรกเตอร์ รวมทั้งเหตุผลต่างๆ ของการกระทำของตัวละครทุกตัวได้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะ 4 ตัวละครหลักของครอบครัวเลอเร็ตต์ที่ผูกพันกันด้วยทั้งเงื่อนไขทางสายเลือด และสิ่งที่ต้องเผชิญร่วมกัน
โดยรวม เราว่าหนังทำได้ดี ดูได้เพลินๆ แม้ว่าจะมีบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างการเล่าเรื่องบ้าง แต่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ ส่วนตัวคิดว่าหนังมีความ Coming of Age นิดๆ ผสมดราม่าครอบครัวหน่อยๆ มู้ดและโทนของเรื่องอาจมีบางส่วนเป็นสีเทาๆ บ้าง แต่เราว่ามันสะท้อนความจริงได้ดีกว่าที่คิด แถมให้แรงบันดาลใจที่ดี โดยเฉพาะคนที่กำลังใจพัง ให้ลุกขึ้นสู้ เพราะชีวิตก็เป็นแบบนี้ แม้ว่ามันจะยากแค่ไหน แต่ถ้าใจเราไม่พัง และยังสู้ เราก็จะหาทางกลับมายืนยิ้มได้ในที่สุด