นายกสมาคมทนายความชี้ ‘ทักษิณ’ ไร้ความผิดปมพักรักษาตัว รพ.ตำรวจ ย้ำอำนาจอยู่ที่ผู้บัญชาการเรือนจำ-แพทย์
นายกสมาคมทนายความ แสดงความเห็นต่อกรณีการพักรักษาตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีที่โรงพยาบาลตำรวจ ยืนยันตามหลักกฎหมาย การส่งตัวไปรักษาเป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำ ส่วนการวินิจฉัยอาการและการรักษาเป็นหน้าที่ของแพทย์ หากมีความผิดเกิดขึ้น ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ตัวผู้ป่วยที่ถูกส่งไป
วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 – นายนรินทร์พงษ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการพักรักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงในสังคม โดยชี้แจงในแง่มุมของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นายนรินทร์พงษ์ กล่าวว่า ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 194 ระบุว่า ศาลยุติธรรมมีอำนาจในการพิจารณาและพิพากษาคดีทุกประเภท แต่ในส่วนของการบังคับตามคำพิพากษา โดยเฉพาะการบังคับโทษจำคุกนั้น ไม่ได้เป็นอำนาจของศาล แต่เป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งอยู่ภายใต้ฝ่ายบริหาร ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 กฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบัน
สอดคล้องกับหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด (แบบ 52 ตรี) ซึ่งเป็นเอกสารของศาลเอง ก็ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนท้ายหมายว่า ให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หรือผู้มีอำนาจ ดำเนินการจำคุกตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์
ดังนั้น การที่ผู้บัญชาการเรือนจำสั่งส่งตัว นายทักษิณ ไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ จึงถือเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ ซึ่งให้อำนาจผู้บัญชาการเรือนจำสามารถดำเนินการได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่อยู่ในกระบวนการบังคับโทษ ซึ่งเป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์
สำหรับกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ภายหลังพบว่า นายทักษิณ มิได้ถูกจำคุกในเรือนจำตามที่หมายระบุไว้ นายนรินทร์พงษ์ ชี้ว่า ศาลมีอำนาจดำเนินการไต่สวนดังกล่าวได้ตามมาตรา 89 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาล
อย่างไรก็ตาม หากผลการไต่สวนของศาล และความเห็นของแพทยสภา ชี้ชัดว่าอาการเจ็บป่วยของ นายทักษิณ ไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤตจนจำเป็นต้องพักรักษาตัวนอกเรือนจำจนครบกำหนดโทษ การส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าว ก็อาจถือได้ว่าไม่ชอบด้วยมาตรา 55 แห่งกฎหมายราชทัณฑ์ แต่ในกรณีนี้ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายคือ ผู้บัญชาการเรือนจำ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจในการจัดการให้เป็นไปตามหมายจำคุก ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือเพื่อให้บุคคลอื่นไม่ต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องมีการดำเนินคดีแยกต่างหาก
นายนรินทร์พงษ์ ย้ำว่า ศาลที่ออกหมายจำคุก ไม่มีอำนาจที่จะออกหมายจำคุกซ้ำ หรือสั่งให้นำตัว นายทักษิณ กลับเข้าจำคุกใหม่ในทันทีได้ เว้นแต่จะเข้าข่ายการหลบหนี หรือแหกที่คุมขัง ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 194 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่กรณีนี้ นายทักษิณ ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ส่งตัวไป
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้เกี่ยวข้องกับการส่งตัวไปรักษาอาจเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลนั้น นายกสมาคมทนายความเห็นว่า การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ เป็นขั้นตอนการบังคับโทษที่อยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งไม่ใช่การประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล หรือการกระทำที่ละเมิดอำนาจศาลที่ต้องอยู่ในบริเวณศาลแต่อย่างใด
หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือกฎหมาย ศาลจะต้องดำเนินการมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ไปร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าว ตามมาตรา 28 (2) ของกฎหมาย ป.ป.ช.
นายนรินทร์พงษ์ สรุปในท้ายที่สุดว่า ไม่ว่าข้อเท็จจริงอาการเจ็บป่วยของ นายทักษิณ จะเป็นอย่างไร หรือวิกฤตมากน้อยแค่ไหน จนต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล การกระทำดังกล่าวไม่อาจเอาผิดกับตัว นายทักษิณ ได้ตามกฎหมายใดๆ เลย เนื่องจาก นายทักษิณ เป็นเพียง “ผู้ป่วยที่ถูกส่งไปรักษาตัว” โดยผู้บัญชาการเรือนจำ และการตัดสินใจให้พักรักษาตัวต่อนั้น เป็นความเห็นของแพทย์ผู้ดูแล หากมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น ความผิดย่อมตกอยู่กับผู้ที่มีอำนาจส่งตัว และผู้ที่ให้ความเห็นทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ใช่ตัวผู้ถูกส่งไป