สหรัฐฯ คงสถานะไทยในบัญชีจับตา IP ชื่นชมความคืบหน้า แต่ยังห่วงบางประเด็น กรมทรัพย์สินฯ เร่งแผนหลุดบัญชี
สหรัฐฯ คงสถานะไทยในบัญชีจับตา IP ชื่นชมความคืบหน้า แต่ยังห่วงบางประเด็น กรมทรัพย์สินฯ เร่งแผนหลุดบัญชี
กรุงเทพฯ – สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ประกาศผลการทบทวนสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยคงสถานะประเทศไทยไว้ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ได้แสดงความชื่นชมต่อความพยายามของไทยในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยืนยันเดินหน้าเต็มที่ตามแผนงาน IP Work Plan เพื่อผลักดันให้ไทยหลุดพ้นจากบัญชีดังกล่าวและทุกบัญชีในอนาคต
นางสาวนุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยภายหลังการประกาศของ USTR เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา ว่า การที่สหรัฐฯ ชื่นชมการดำเนินการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ซึ่งรวมถึงการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายลิขสิทธิ์ และกฎหมายสิทธิบัตร รวมถึงการกำกับดูแลองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ (Collective Management Organizations: CMOs) ถือเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นการยอมรับในความมุ่งมั่นของไทยในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม USTR ยังคงมีข้อห่วงกังวลในบางประเด็น อาทิ การลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ (Camcording) การแอบอ้างสิทธิในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ผ่านการสตรีมมิ่งและการดาวน์โหลดคอนเทนต์โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงความล่าช้าในการดำเนินคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา
อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมฯ ได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาLระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศอย่างต่อเนื่อง และในบางเรื่องก็ได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไปแล้ว เช่น การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) และการลดระยะเวลาการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา
นอกจากนี้ กรมฯ ยังคงมุ่งมั่นผลักดันการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Performances and Phonograms Treaty: WPPT) และการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (Hague Agreement Concerning International Registration of Industrial Designs: Hague Agreement) ควบคู่ไปกับการยกร่างกฎหมายกำกับดูแลองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ (CMOs)
นางสาวนุสรา มั่นใจว่า เมื่อการดำเนินการตามแผนงานทั้งหมดแล้วเสร็จ สหรัฐฯ จะพิจารณาให้ประเทศไทยหลุดจากบัญชี Watch List และทุกบัญชีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อสถานะของไทยในเวทีโลก แต่ยังเป็นการพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสมกับการค้าและการลงทุนในยุคดิจิทัล เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
สำหรับแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) ที่กรมฯ ได้จัดทำร่วมกับ USTR นั้น ได้เสร็จเรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างรอการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งแผนงานนี้จะเป็นกรอบการทำงานที่ชัดเจนในการนำพาประเทศไทยไปสู่การหลุดพ้นจากบัญชีของ USTR ทั้งหมดในอนาคต อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญและร่วมมือในการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาโดยตลอด