“ถอนรากถอนโคนเตา IF” รมว.อุตฯ สั่งเร่งยกเลิกมาตรฐานเหล็ก ใช้ ม.17 ปิดตายใน 1 เดือน SKY โดนถอนสิทธิถาวร
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหามาตรฐานการผลิตเหล็กที่ใช้เตาอินดักชั่น (IF) ว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ชุดพิเศษขึ้นมา ประกอบด้วยกรรมการ 6 ท่าน โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน
ภารกิจหลักที่มอบหมายให้คณะกรรมการชุดนี้คือ การเร่งประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหามาตรฐานเหล็กที่ผลิตจากเตา IF ตามที่ได้รับหนังสือร้องขอจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ทบทวนการใช้เตาประเภทดังกล่าว
นายเอกนัฏ ชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องเร่งดำเนินการว่า ปัญหาหลักที่ประเทศไทยต้องเผชิญจากการใช้เตา IF คือ การควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์เหล็ก และปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศนั้น มีกำลังการผลิตเหล็กจากเตาเผาไฟฟ้า (EAF) ที่มีอยู่เพียงพอและสามารถรองรับความต้องการได้แล้ว
“เห็นได้จากปี 2567 ปริมาณการผลิตเหล็กเส้นจากเตา EAF ยังไม่ถึง 3 ล้านตันเท่านั้น ซึ่งเตา EAF สามารถรักษาคุณภาพได้ง่ายกว่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าอย่างชัดเจน ขณะที่ประเทศไทยมีกำลังการผลิตจากเตา EAF ได้เกินกว่า 4 ล้านตันต่อปีอยู่แล้ว ดังนั้น เราจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการผลิตจากเตา IF อีกต่อไป” นายเอกนัฏ กล่าว
สำหรับกระบวนการปรับปรุงมาตรฐาน หากต้องผ่านขั้นตอนปกติของคณะกรรมการวิชาการ กมอ. อาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การแก้ปัญหานี้มีความรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังพิจารณาใช้มาตรา 17 ของพระราชบัญญัติมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้สามารถออกประกาศยกเลิกมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเตา IF ได้โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งจะทำให้กระบวนการทั้งหมดแล้วเสร็จภายในเวลาเพียง 1 เดือน
การดำเนินการนี้มีเป้าหมายเพื่อยับยั้งปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการใช้เหล็กที่ผลิตโดยเตา IF
ในส่วนของกรณีผู้ผลิตเหล็กสัญชาติจีน อย่างบริษัท ซินเคอหยวน (SKY) ที่มีโรงงานใช้เตา IF ทั้งหมด นายเอกนัฏ ยืนยันว่าเป็นกรณีที่สามารถใช้อำนาจสั่งปิดได้ทันที โดยขณะนี้ทีมงานกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 8 ราย และได้มีคำสั่งปิดโรงงานไปแล้วรวม 3 ราย ส่วนการเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานนั้น ยังคงอยู่ในขั้นตอนการดำเนินคดีตามกฎหมาย
ประเด็นสำคัญคือ การเพิกถอนสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่เคยมอบให้กับบริษัท ซินเคอหยวน นั้น นายเอกนัฏ เน้นย้ำว่า ได้ดำเนินการเพิกถอนสิทธิแบบถาวรแล้ว ไม่ใช่เพียงชั่วคราว และการเพิกถอนนี้ครอบคลุมถึงสิทธิประโยชน์ด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากสิทธิด้านภาษีด้วย เช่น การขอวีซ่าเพื่อประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ และสิทธิการใช้ที่ดิน จะถูกระงับทั้งหมด
นายเอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยมาตรการที่เข้มงวดนี้ โรงงานของซินเคอหยวนทั้งที่ถูกสั่งปิดไปแล้ว และที่ยังไม่ทันได้เปิดดำเนินการ จะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้อีก เนื่องจากเป็นโรงงานประเภทเตาหลอมแบบ IF ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้มีเป้าหมายสูงสุดคือ การ “ถอนรากถอนโคน” เตา IF ออกจากอุตสาหกรรมเหล็กของไทยโดยสมบูรณ์
“ถ้ามาตรฐานอุตสาหกรรมมีการยกเลิกเตา IF และ กมอ. มีมติยกเลิกเตา IF อย่างเป็นทางการ นั่นหมายถึงการปิดสวิตช์ทั้งหมดเลย” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว พร้อมเสริมว่า ผู้ประกอบการที่ใช้เตา IF อาจหมดโอกาสในการเปิดโรงงานหรือดำเนินกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยอีกต่อไป
ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า โรงงานที่ใช้เตา IF หลายแห่ง กำลังเตรียมการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยแล้ว