สภาดิจิทัลฯ ชง 5 ยุทธศาสตร์เด็ด ขับเคลื่อนไทยสู่ศูนย์กลาง AI ภูมิภาค ‘แพทองธาร’ สั่งเร่งแผนปฏิบัติการ
กรุงเทพฯ – สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) ได้นำเสนอ 5 แนวทางยุทธศาสตร์สำคัญต่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อพัฒนาประเทศไทย ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของภูมิภาค และพร้อมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
การประชุมครั้งนี้มีผู้บริหารระดับสูงจากสภาดิจิทัลฯ เข้าร่วมและนำเสนอข้อคิดเห็น ประกอบด้วย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสผู้ร่วมก่อตั้งสภาดิจิทัลฯ, ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ และ ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ AI ในการขับเคลื่อนประเทศ และได้เสนอ 5 แนวทางยุทธศาสตร์ ดังนี้
- ส่งเสริมการใช้งาน AI อย่างเต็มศักยภาพ: มุ่งผลักดันให้มีการนำ AI ไปประยุกต์ใช้ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ หรือภาคการศึกษา เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (Transformation) ทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคมไทย
- พัฒนา AI ของชาติ (Sovereign AI) ที่ประชาชนเข้าถึงได้ (Affordability): สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI อย่างเป็นระบบ เช่น การลงทุนในหน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูงอย่าง GPU (Graphics Processing Unit) และการส่งเสริมโมเดล AI แบบ Open Source เพื่อยกระดับศักยภาพการพัฒนา AI ภายในประเทศ และทำให้ประชาชนและทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงเครื่องมือ AI คุณภาพสูงได้อย่างทั่วถึง โดยยกตัวอย่างกรณี Deepseek ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา Open Source AI ระดับสูง
- ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและจริยธรรมในการใช้งาน AI (Ethical AI): สร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมด้วยการพัฒนากรอบกฎหมายและข้อบังคับที่ทันสมัย เพื่อป้องกันการนำ AI ไปใช้ในทางที่ผิด เช่น อาชญากรรมทางไซเบอร์ การปลอมแปลงข้อมูล (Deepfake) และการคุกคามความเป็นส่วนตัว พร้อมส่งเสริมการพัฒนา AI ที่มีจริยธรรม และยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางข้อมูล
- ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้พัฒนา AI: เสนอแนวทางดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกเข้ามาลงทุนจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในประเทศไทย โดยการให้สิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจ ควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรด้าน AI (AI Talents) และระบบการศึกษาของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ
- เพิ่มเป้าหมายการลงทุนด้าน AI ของภาครัฐ (Government Spending): เสนอให้พิจารณาตั้งเป้าหมายการใช้งบประมาณภาครัฐเพื่อการลงทุนด้าน AI ที่ระดับอย่างน้อย 0.05% ถึง 0.1% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เพื่อเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขัน และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทั้ง 5 ประการนี้ สอดคล้องกับกรอบแนวคิดการขับเคลื่อน AI ของสภาดิจิทัลฯ ซึ่งครอบคลุมการกำหนดเป้าหมาย (KPI), การสร้างกลไกตลาด (Market Mechanism), การพัฒนากำลังคน (Talents), การเสริมศักยภาพ (Empowerment), และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation)
ในส่วนของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาและนำเสนอโครงการขับเคลื่อน AI ที่สำคัญ พร้อมกรอบวงเงินงบประมาณ เพื่อให้เกิดการพัฒนานโยบายด้าน AI ที่มีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้โดยเร็ว
สภาดิจิทัลฯ ยืนยันที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลาง AI ระดับภูมิภาค สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป