เด็กไทยสุดเจ๋ง! สร้างชื่อเสียงระดับโลก กวาด 11 รางวัล เวทีวิทยาศาสตร์เยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ISEF 2025 รร.ปรินส์รอยแยลส์ฯ คว้า Grand Award อันดับ 1

โคลัมบัส, สหรัฐอเมริกา – เยาวชนไทยสร้างประวัติศาสตร์อันน่าภาคภูมิใจบนเวทีโลก! ทีมเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทยสามารถคว้ารางวัลมาได้ถึง 11 รางวัล จากการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์สำหรับเยาวชนระดับโลก REGENERON ISEF 2025 (Regeneron International Science and Engineering Fair 2025) ซึ่งจัดขึ้นโดย Society for Science ณ เมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 10 – 16 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา

การแข่งขัน Regeneron ISEF นับเป็นเวทีโครงงานวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยปีนี้มีตัวแทนนักเรียนจาก 66 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมชิงชัยกว่า 1,700 คน ใน 15 สาขาวิชา ซึ่งทีมเยาวชนไทยจำนวน 14 ทีม ได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้เดินทางเข้าร่วมแสดงศักยภาพและนำเสนอผลงาน

ผลปรากฏว่า เยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัล Grand Award รวม 8 รางวัล และรางวัล Special Awards อีก 3 รางวัล รวมทั้งสิ้น 11 รางวัล โดยมีผลงานที่โดดเด่นและสร้างความฮือฮาในเวทีโลก ดังนี้

รางวัล Grand Award อันดับที่ 1 (สาขาเทคโนโลยีส่งเสริมศิลปะ):

  • โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่: โครงงานไอเบรลล์ : การปฏิรูปการศึกษาเบรลล์อย่างเป็นระบบด้วย AI และเทคโนโลยีสัมผัสต้นทุนต่ำ เพื่อสังคมแห่งความเท่าเทียมที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ โดย นายศิวกร สุวรรณหงส์, นายปัณณวิชญ์ พลนิรันดร์ และ น.ส.ศตพร ธนปัญญากุล ได้รับเงินรางวัล 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ

รางวัล Grand Award อันดับที่ 2 (เงินรางวัล 2,400 ดอลลาร์สหรัฐ):

  • โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ (สาขาสัตวศาสตร์): โครงงานการพัฒนานวัตกรรมฟองน้ำชีวภาพเพื่อลดพฤติกรรมการกินกันเอง สำหรับการอนุรักษ์ปูม้าและระบบนิเวศชายฝั่งอย่างยั่งยืน
  • โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง (สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์): โครงงานการศึกษาแบบจำลองสามมิติและแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของพฤติกรรมการพลิกตัวกลับในกิ้งกือกระสุนพระอินทร์

รางวัล Grand Award อันดับที่ 3 (เงินรางวัล 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ):

  • โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย (สาขาสัตวศาสตร์): โครงงาน BeeShield: การพัฒนาอุโมงค์ทางเข้าป้องกันไรผึ้งโดยใช้พฤติกรรมการเข้ารังของผึ้งและการตอบสนองของไรต่อกรดฟอร์มิก
  • โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ (สาขาสัตวศาสตร์): โครงงานการเพิ่มประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอยในการควบคุมศัตรูพืชแบบชีวภาพ
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) จังหวัดขอนแก่น (สาขาสัตวศาสตร์): โครงงานนวัตกรรมสูตรอาหารและปัจจัยแวดล้อม เพื่อการเพาะเลี้ยงแมลงดานาอย่างมีประสิทธิภาพ

รางวัล Grand Award อันดับที่ 4 (เงินรางวัล 600 ดอลลาร์สหรัฐ):

  • โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม (สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ปริวรรต): โครงงานการพัฒนาอนุภาคนาโนจากสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นการงอกใหม่ของพลานาเรียสายพันธุ์ Dugesia japonica สำหรับการรักษาบาดแผลเพื่อต่อยอดเป็นนวัตกรรมแผ่นปิดบาดแผล
  • โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย (สาขาสัตวศาสตร์): โครงงานนวัตกรรมใหม่แบบผสานวิธีเพื่อการขยายพันธุ์ และการอนุรักษ์ชันโรงดิน (Tetragonula collina)

นอกจากรางวัล Grand Award แล้ว เยาวชนไทยยังคว้ารางวัล Special Awards อีก 3 รางวัล ได้แก่ รางวัล Special Award อันดับที่ 1 จาก TUBITAK The Scientific and Technological Research Council of Türkiye (จาก รร.กำเนิดวิทย์ จ.ระยอง), รางวัล Special Award อันดับที่ 2 จาก Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society (จาก รร.ดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย) และรางวัล Special Award อันดับที่ 4 จาก American Chemical Society (จาก รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย จ.เชียงราย) พร้อมเงินรางวัลรวมอีก 2,800 ดอลลาร์สหรัฐ

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวชื่นชมเยาวชนไทยทุกคนที่ทุ่มเท มุ่งมั่นทำโครงงานจนสามารถคว้ารางวัลระดับโลกมาได้สำเร็จ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนไทย พร้อมเชื่อมั่นว่าผลงานเหล่านี้จะได้รับการต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์ต่อไป ขณะที่ รศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ และ ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ต่างแสดงความยินดีและหวังว่าประสบการณ์จากเวทีโลกนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมวิทยาศาสตร์ของไทยในอนาคต

ความสำเร็จครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนไทยในด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพขับเคลื่อนประเทศต่อไป

ทีมเยาวชนไทยชุดนี้จะเดินทางกลับถึงประเทศไทยระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤษภาคม นี้ ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารและร่วมแสดงความยินดีได้ทางเพจ Facebook: NSMTHAILAND

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *