นักวิชาการชี้ ไทย-สิงคโปร์ ซมพิษเทรดวอร์หนักสุดในอาเซียน เตือนเศรษฐกิจเสี่ยงถดถอย หากไม่เร่งกระตุ้น
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการประเมินเศรษฐกิจล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF พบว่า ประเทศไทยและสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างประเทศรุนแรงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดย IMF คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้จะอยู่ที่เพียง 1.8% และของสิงคโปร์จะอยู่ที่ 2%
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ DEIIT มองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจะปรากฏชัดตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2 เป็นต้นไป โดยเฉพาะกรณีของประเทศไทยอาจเสี่ยงเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) หรือภาวะเงินฝืดอ่อนๆ ได้ หากรัฐบาลไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รวดเร็วและทันท่วงที ทั้งด้านการเงินและการคลัง
นายอนุสรณ์ อธิบายว่า เหตุผลที่ประเทศไทยและสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างรุนแรง เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศมีระดับการเปิดประเทศสูง พึ่งพาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสิงคโปร์ซึ่งมีระดับการเปิดประเทศสูงสุดในอาเซียน จึงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของมูลค่าการค้าโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้ประเทศไทยจะมีขนาดตลาดภายในประเทศที่ใหญ่กว่าหลายประเทศในอาเซียน แต่ด้วยข้อจำกัดด้านโครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย และปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การปรับเปลี่ยนทิศทางเศรษฐกิจมาพึ่งพาตลาดภายในประเทศมากขึ้นไม่ใช่เรื่องง่าย การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศจึงมีขีดจำกัด
นายอนุสรณ์ ชี้ว่า การที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยหลุดพ้นจากภาวะเติบโตต่ำสุดในอาเซียนได้นั้น จำเป็นต้องมีการปฏิรูปในทุกมิติ ทั้งการลงทุนเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มการลงทุนด้านนวัตกรรมและทรัพยากรมนุษย์ ในระยะสั้น รัฐบาลควรเร่งออกมาตรการผ่อนคลายทั้งทางการเงินและการคลัง ควบคู่ไปกับการผ่อนคลายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ชะลอการเลิกจ้างในภาคการส่งออก ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และปิดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางสังคม (Social Unrest) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ความไม่พอใจต่อภาวะความเหลื่อมล้ำสูงจะเพิ่มขึ้น นำไปสู่การเรียกร้องให้ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งผู้มีอำนาจต้องตอบสนองอย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์
นายอนุสรณ์ ยังได้กล่าวเตือนถึงสัญญาณการเลิกจ้างในภาคการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยให้ติดตามข้อมูลการผลิตและการจ้างงานอย่างใกล้ชิด เช่น การแจ้งหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ผู้ผลิตที่พึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีตอบโต้ ทำให้ส่งออกได้น้อยลง ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกจากประเทศอื่นจะหันมาแข่งขันกับสินค้าไทยในตลาดเดียวกันมากขึ้น รวมถึงอาจส่งออกสินค้ามายังประเทศไทยมากขึ้น เมื่อไม่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้เต็มที่
ย้อนกลับไปในอดีต เศรษฐกิจไทยเคยมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 11.7% ในช่วงปี พ.ศ. 2530-2533 และเคยเติบโตสูงถึง 13.3% ต่อปีในบางปีของทศวรรษ 2530 ซึ่งสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและการมีนโยบายเปิดกว้างทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมในช่วงเวลานั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนเดิม
ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ได้ล่าช้า และการฟื้นตัวเป็นแบบ K-Shape ที่ชัดเจน อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยรั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียนมาหลายปีติดต่อกัน โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่ำกว่า 3% และล่าสุดปีนี้อาจต่ำกว่า 2% นอกจากนี้ สัดส่วนของการลงทุนเทียบกับ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐหรือโครงการสัมปทานต่างๆ มักมีปัญหาการทุจริตและเบี่ยงเบนจากหลักวิชาการ
สำหรับกรณีที่กระทรวงการคลังเตรียมกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท นายอนุสรณ์ย้ำว่า ควรเน้นนำไปใช้เพื่อการลงทุนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว มาตรการประชานิยม เช่น การพักหนี้ หรือการแจกเงิน อาจช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและปัญหาหนี้สินในระยะสั้น แต่ไม่ได้ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การใช้จ่ายเงินจากการกู้ต้องตรงเป้าหมาย มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดผลตามนโยบายที่วางไว้
สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยขณะนี้อยู่ที่ 64.21% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนแล้ว หากมีการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโตเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงขึ้นไปอีกจนอาจต้องขยับเพดานหนี้สาธารณะ
ส่วนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (Soft Loans) นายอนุสรณ์มองว่า อาจช่วยบรรเทาปัญหาทางการเงินและลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของ SMEs ได้บ้าง แต่มาตรการดังกล่าวเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจมีการปรับโครงสร้างเพื่อตอบสนองต่อพลวัตของอุปสงค์ในตลาดโลก มาตรการ Soft Loans จึงต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปฏิรูปและปรับโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ การปฏิรูประบบการให้สิทธิพิเศษการลงทุนแก่ต่างชาติก็มีความสำคัญ การลงทุนจากต่างประเทศควรต้องนำมาซึ่งการถ่ายโอนเทคโนโลยี และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการผลิตของไทย ควบคู่ไปกับมาตรการกำกับควบคุมที่เข้มงวดเพื่อป้องกันไม่ให้มีการสวมสิทธิการส่งออก โดยที่ไม่มีการผลิตจริงจังในประเทศ หรือมีการใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบในไทยเพียงเล็กน้อย บางกรณีอาจเป็นเพียงการขนถ่ายสินค้า (Transshipment) และติดฉลาก “Made in Thailand” ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจผิด
ประเด็นสุดท้าย นายอนุสรณ์ ยังได้กล่าวถึงการตัดงบประมาณช่วยเหลือขององค์กร USAID ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริการสาธารณสุขและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามแนวชายแดนของไทย ระบบสาธารณสุขไทยที่ดูแลพื้นที่ชายแดนจะต้องแบกรับภาระที่หนักขึ้น จึงควรได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ในมิติของมนุษยธรรม แต่ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการควบคุมโรคระบาดตามแนวชายแดนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจในภาพรวม