กรมศุลฯ ยึดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 238 ตันจากสหรัฐฯ ชี้ล็อตใหญ่สุดปีนี้ หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม
กรุงเทพฯ – เจ้าหน้าที่ไทยเปิดเผยเมื่อวันพุธ (ตามเวลาท้องถิ่น) ว่า ได้ทำการยึดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าอย่างผิดกฎหมายจากสหรัฐอเมริกา จำนวน 238 ตัน ที่ท่าเรือกรุงเทพฯ นับเป็นหนึ่งในล็อตใหญ่ที่สุดที่ตรวจพบในปีนี้
นายธีรเจต อรรถนาวุฒิ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวถูกบรรจุมาในตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่จำนวน 10 ตู้ ซึ่งตามใบขนสินค้าสำแดงเป็นเศษโลหะผสม แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการสุ่มตรวจเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา กลับพบว่าเป็นแผงวงจรไฟฟ้าที่ผสมอยู่กับเศษโลหะจำนวนมหาศาล
รายงานของสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้วระบุว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังเพิ่มปริมาณขึ้นทั่วโลก โดยในปี 2565 มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นประมาณ 62 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 82 ล้านตันภายในปี 2573 รายงานยังระบุว่า มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพียงร้อยละ 22 เท่านั้นที่ถูกรวบรวมและนำไปรีไซเคิลอย่างถูกต้องในปี 2565 และคาดว่าสัดส่วนนี้จะลดลงเหลือร้อยละ 20 ภายในสิ้นทศวรรษนี้ เนื่องจากอัตราการบริโภคที่สูงขึ้น ทางเลือกในการซ่อมแซมมีจำกัด วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่สั้นลง และโครงสร้างพื้นฐานการจัดการที่ยังไม่เพียงพอ
นายธีรเจตกล่าวว่า ทางการไทยกำลังพิจารณาดำเนินคดีหลายข้อหา รวมถึงการสำแดงสินค้าเป็นเท็จ การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างผิดกฎหมาย และกำลังเตรียมการส่งขยะดังกล่าวกลับไปยังประเทศต้นทาง
“เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องดำเนินการกับสินค้าประเภทนี้” นายธีรเจตกล่าว “มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อผู้คน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่รอบโรงงานที่อาจนำสิ่งเหล่านี้ไปแปรรูปหรือรีไซเคิล”
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก ส่วนประกอบหลายอย่างมีสารตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และสารพิษอื่นๆ ผู้รับซื้อขยะเหล่านี้มักมุ่งหวังทองคำ เงิน แพลเลเดียม และทองแดง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแผงวงจรพิมพ์ แต่เนื่องจากการควบคุมที่หละหลวม ทำให้โรงงานมักเผาพลาสติกเพื่อแยกทองแดงที่หุ้มอยู่ และใช้วิธีการที่ไม่ปลอดภัยในการสกัดโลหะมีค่า
ประเทศไทยได้ประกาศห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์หลายประเภทในปี 2563 และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติบัญชีรายชื่อของเสียที่ถูกห้ามนำเข้าเพิ่มเติมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สงสัยว่ามีโรงงานอย่างน้อยสองแห่งในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ติดกับกรุงเทพฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าขยะดังกล่าว
ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา กรมศุลกากรเคยยึดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าอย่างผิดกฎหมายจำนวน 256 ตันจากญี่ปุ่นและฮ่องกง ที่ท่าเรือแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกของประเทศไทยมาแล้ว