เสียงสะท้อนจากสังคม: ไทยพีบีเอส เปิดเวทีใหญ่ สรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท. คนใหม่ ชูธงโปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วม
ท่ามกลางกระแสข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลไม่หยุดในยุคดิจิทัล คำถามว่า ‘เราควรมีสื่อแบบไหน’ ยิ่งมีความสำคัญ สื่อไม่ได้เป็นเพียงช่องทางถ่ายทอด แต่ยังกำหนดวิธีคิดและทิศทางสังคม ‘สื่อสาธารณะ’ จึงมีพันธกิจพิเศษในการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ขึ้นกับทุนธุรกิจหรืออำนาจรัฐ แต่ยึดโยงกับประชาชน
ไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะแห่งแรกของไทย ยืนหยัดในบทบาทนี้มากว่า 17 ปี และยังคงยืนยันพันธกิจในการเป็นพื้นที่กลางที่เสียงทุกคนได้รับการรับฟัง รวมถึงการตัดสินใจสำคัญอย่างการคัดเลือกผู้อำนวยการคนใหม่ของ ส.ส.ท. (องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย)
นี่คือที่มาของการจัดงาน ‘เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท.’ เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาควิชาการ เครือข่ายภาคประชาสังคม สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส ผู้ผลิตอิสระ ผู้ผลิตภาคพลเมือง และประชาชนทั่วไป ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมการสรรหา ใน 2 ประเด็นหลัก คือ ทิศทางของไทยพีบีเอสในภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลง และ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้อำนวยการ ส.ส.ท.
สื่อสาธารณะยังจำเป็นในยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวว่า แม้สังคมจะตั้งคำถามถึงความจำเป็นของสื่อสาธารณะในยุคที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงและใครๆ ก็เป็นสื่อได้ แต่สถานการณ์นี้เองที่ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของไทยพีบีเอส ในการนำเสนอข้อมูลข่าวที่รอบด้าน สมดุล และทำงานอย่างมืออาชีพ
“การเปิดเวทีครั้งนี้สะท้อนสปิริตของสื่อสาธารณะ ในการสร้างการมีส่วนร่วมให้รู้สึกว่า ไทยพีบีเอสเป็นของสาธารณะอย่างแท้จริง เริ่มจากกระบวนการสรรหามีความโปร่งใส และจะมีการแสดงวิสัยทัศน์ ที่มีการถ่ายทอดสดเป็นครั้งแรก การรับฟังความเห็นครั้งนี้ถือว่าได้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ซึ่งผู้สมัคร ผอ.ส.ส.ท. ทั้ง 23 คน น่าจะได้รับฟังและต้องตอบคำถามเหล่านี้เช่นกัน” ดร.สมเกียรติ กล่าว
เสียงสะท้อนประชาชน: ไทยพีบีเอสต้องเร่งเครื่อง ขึ้นแท่นผู้นำสื่อ
บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยข้อเสนอแนะจากหลากหลายวงการ อาทิ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อ ชี้ว่า ไทยพีบีเอสต้องเป็นผู้นำในวงการสื่อ โดยเฉพาะสื่อทีวีที่จะหมดอายุใบอนุญาตในปี 2572 และจะต้องเตรียมแผนรองรับการสูญเสียรายได้จากการให้เช่าโครงข่าย ควรใช้โมเดล BBC ของอังกฤษเป็นตัวอย่าง ที่ผู้อำนวยการประกาศวิสัยทัศน์ชัดเจน
“ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. คนใหม่ ต้องมีวิสัยทัศน์ชัดเจน และประสานกับ กสทช. เพราะไทยพีบีเอสมีความพร้อมที่จะนำพาอุตสาหกรรมสื่อไปได้ ดังนั้น ต้องเป็นผู้กล้าในการปรับเปลี่ยน ให้อุตสาหกรรมไปได้ ร่วมกับสื่ออื่นๆ เผชิญปัญหาไปด้วยกัน” ดร.สิขเรศ ให้ความเห็น
โจทย์ใหญ่ ผอ.ใหม่ กับภารกิจเปลี่ยนสื่อเพื่อสังคม
ในอีกมุมหนึ่ง รศ.มัทนา เจริญวงศ์ จาก มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ที่ร่วมงานกับไทยพีบีเอสมาตลอด 17 ปี มองว่าสื่อท้องถิ่นเผชิญความท้าทายทั้งจากเทคโนโลยี แรงกดดันจากทุนและการเมือง ทำให้ข้อมูลไหลเวียนไม่เท่าเทียมกัน
เธอเสนอให้ไทยพีบีเอสเร่งกระจายศูนย์กลางการผลิตสื่อ (decentralize content production) ไปยังพื้นที่ สนับสนุนเครือข่ายสื่อท้องถิ่น เปิดพื้นที่ให้ ‘ผู้เล่นใหม่’ จากชุมชน และยืนหยัดเป็นผู้นำด้านสื่อเชิงสืบสวนสอบสวน (Investigative Journalism) เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงในสังคม
“ไทยพีบีเอสทำได้ดีในการเปิดพื้นที่ให้ชุมชน แต่ความท้าทายคือการสร้างความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม และมองหาผู้เล่นใหม่ๆ ในพื้นที่ เพื่ออุดช่องว่างและเสริมพลังการสื่อสารให้เข้มแข็งขึ้น” รศ.มัทนา กล่าว
เช่นเดียวกับ รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า หน้าที่ของไทยพีบีเอสไม่ใช่แค่รายงานข่าว แต่ควรเป็นสถาบันสื่อสารที่ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อนำไปสู่นโยบายสาธารณะ ส่วนผู้อำนวยการคนใหม่ ควรมีจริยธรรมควบคู่ไปกับวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจ
ผอ.ใหม่ต้องกล้า นำองค์กรฝ่าคลื่นสื่อยุคใหม่
ดร.สมเกียรติ สรุปสาระสำคัญที่สะท้อนเสียงของสังคมว่า ผู้คนคาดหวังผู้อำนวยการคนใหม่ที่มีความสามารถนำองค์กรฝ่าความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ ทั้งด้านเทคโนโลยีและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรายได้ ที่สำคัญคือต้องเป็นผู้นำที่อิสระ กล้าหาญ ยืนหยัดในความเป็นสื่อสาธารณะ และเปิดทางให้ทีมงานทำงานอย่างเสรี
“คณะกรรมการสรรหาย้ำถึงความพยายามสร้างกระบวนการที่ ‘เปิดกว้างที่สุด’ เท่าที่เคยมีมา ด้วยการเปิดรับเสียงจากทุกภาคส่วน และจัดการถ่ายทอดสดการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือก ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 กระบวนการนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้สังคมได้มีส่วนร่วมและตรวจสอบได้ตลอดเส้นทาง โดยรอบนี้มีผู้สมัครมากถึง 23 คน ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่ากระบวนการเปิดกว้างกำลังเดินมาถูกทาง” ดร.สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ไทยพีบีเอสได้ประกาศรายชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ที่ผ่านเข้ารอบแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหาแล้ว 6 คน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ณ ห้องคอนเวนชันฮอลล์ ชั้น 2 อาคารศูนย์การเรียนรู้ ไทยพีบีเอส และจะมีการถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ของไทยพีบีเอส เปิดพื้นที่ให้สังคมร่วมรับฟัง ร่วมลุ้น และร่วมกำหนดอนาคตของผู้อำนวยการคนใหม่ ผู้ที่จะเป็นหัวเรือสำคัญในการพาสื่อสาธารณะไทยเดินหน้าอย่างมีพลัง