ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม มี.ค. ดิ่ง! พิษแผ่นดินไหว-กังวลภาษีสหรัฐฯ ส.อ.ท. ชี้เจรจายังมีลุ้น
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2568 ปรับตัวลดลง สู่ระดับ 91.8 จากเดือนก่อนหน้าที่ 93.4 สาเหตุหลักมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อกที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศโดยรวมชะลอตัวลง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลการสำรวจดังกล่าวว่า นอกจากปัจจัยด้านภัยธรรมชาติแล้ว การที่สหรัฐฯ มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตรา 25% ซึ่งมีผลตั้งแต่ 12 มีนาคม 2568 อาจส่งผลให้การส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังกังวลมาตรการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดส่งออกรถยนต์ รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความกังวลเหล่านี้สะท้อนได้จากการชะลอคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้า เพื่อรอความชัดเจนในนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 8.34% สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงตามไปด้วย อยู่ที่ระดับ 95.7 ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 97.6
สำหรับกรณีการเจรจาทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่ถูกเลื่อนออกไปจากแผนเดิมนั้น ภาคเอกชนมองว่าปัญหาของไทยอาจไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนลำดับต้นๆ ของสหรัฐฯ และการที่ไทยยังไม่ได้รับคิวเจรจาในลำดับแรก อาจเป็นเพราะสหรัฐฯ ยังมีประเด็นที่ต้องเร่งหารือกับประเทศอื่นมากกว่า ซึ่งในมุมของไทย การมีเวลายังถือเป็นโอกาส เพราะไทยยังมีประเด็นด้านนวัตกรรมและซัพพลายเชนที่ต้องเจรจาเพิ่มเติม ทำให้มีโอกาสในการเตรียมตัวและเจรจาได้มากขึ้น
ส่วนประเด็นข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีความกังวลว่าอาจมีผลต่อการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ นั้น ส.อ.ท. มองว่าการเจรจามีทีมงานหลักทั้งจากภาคการเมืองและราชการที่ทำหน้าที่อยู่แล้ว ซึ่งต้องแยกส่วนกัน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจมีผลกระทบบ้าง แต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดทั้งหมด
นายอภิชิตกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตาประเด็นการปรับขึ้นภาษีนำเข้าศุลกากรที่ประเทศไทยอาจโดนสูงถึง 36% ซึ่งยังต้องรอดูความชัดเจน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันที่ผลิตสินค้าคล้ายคลึงกัน เช่น เวียดนามที่อาจโดนถึง 46% ไทยก็อาจมีแต้มต่ออยู่บ้าง จึงต้องรอดูก่อนในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง แต่ ส.อ.ท. ยังไม่ได้มองถึงขั้นที่ไม่สามารถหารือกันได้ เนื่องจากทีมเจรจาหลักของไทย ทั้งนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีความเข้มแข็ง และได้เตรียมแผนการเจรจาไว้เป็นอย่างดีแล้ว
ส.อ.ท. ยังได้เสนอแนะข้อคิดเห็นต่อภาครัฐเพื่อรับมือสถานการณ์ต่างๆ โดยเสนอให้มีการบูรณาการความร่วมมือในการจัดทำแผนรับมือเหตุแผ่นดินไหวและมีระบบการตรวจสอบความปลอดภัยในการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างอย่างเข้มงวด รวมทั้งเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติโดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ลดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน เสนอให้ภาครัฐเร่งเปิดตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพรองรับสินค้าไทย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การค้าโลก เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา เป็นต้น ควบคู่กับการเร่งเจรจาความร่วมมือเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ไทย-อียู เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกใหม่ๆ สุดท้าย ส.อ.ท. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมในประเทศไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เช่น มาตรการทางภาษี หรือเงินอุดหนุน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและเติบโตต่อไปได้