สมาคมนักอุทกวิทยาไทย จัดเสวนา ถอดบทเรียนภัยน้ำ พร้อมรับมือสถานการณ์ปี 2568 ในภาวะภูมิอากาศสุดขั้ว

นนทบุรี – สมาคมนักอุทกวิทยาไทย ร่วมกับกรมชลประทาน และสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทานในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “ความเสี่ยง ภัยพิบัติทางน้ำ 2025 ในภาวะภูมิอากาศสุดขั้ว” ขึ้น ณ หอประชุมชูชาติ กำภู สถาบันพัฒนาการชลประทาน เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในปี 2568 ท่ามกลางความท้าทายจากสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง

การเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายสัญชัย เกตุวรชัย นายกสมาคมนักอุทกวิทยาไทย เป็นประธานเปิดงาน และมี รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน เป็นผู้ดำเนินรายการ ร่วมกับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายหน่วยงานสำคัญ ได้แก่ นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร, นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ, นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา และนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน การเสวนาถือเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูล แนวโน้มสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ การเตรียมพร้อมของหน่วยงาน และนโยบายการบริหารจัดการน้ำของประเทศ

นายสัญชัย เกตุวรชัย กล่าวเปิดเผยถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า สภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบให้ทั่วโลกเผชิญกับภัยแล้งและอุทกภัยที่รุนแรงขึ้น สำหรับประเทศไทยในปี 2568 ปรากฏการณ์เอลโซ่ (ENSO) อยู่ในสภาวะเป็นกลางและคาดว่าจะคงอยู่เช่นนี้ถึงช่วงปลายปี กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเริ่มต้นฤดูฝนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 โดยคาดการณ์ว่าปริมาณฝนในปีนี้จะมีแนวโน้มต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยประมาณ 1–2 ลูก โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สิ่งที่น่าจับตาคือช่วงก่อนเข้าฤดูฝนตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากเกือบทุกพื้นที่ ทำให้พื้นดินมีความชุ่มน้ำตั้งแต่ต้นฤดู ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อุทกภัยเกิดขึ้นได้ง่ายหากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง

“การเสวนาครั้งนี้มุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูล แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งอุตุนิยมวิทยา หน่วยปฏิบัติงาน และหน่วยงานกำหนดนโยบาย เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำปี 2568 หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลสรุปจากการเสวนาจะเป็นประโยชน์และนำไปสู่แนวทางปฏิบัติเพื่อลดภัยพิบัติทางน้ำของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายสัญชัย กล่าวเสริม

ด้านนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายบำรุงรักษา กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของกรมชลประทานว่า ได้มีการถอดบทเรียนจากภัยพิบัติที่ผ่านมาเพื่อนำมาปรับใช้ในการวางแผน โดยในปี 2568 ได้เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และติดตั้งตามจุดเสี่ยงทั่วประเทศ พร้อมปฏิบัติงานได้ทันที มีการคาดการณ์ปริมาณน้ำและฝนเพื่อลดผลกระทบ และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้า

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ เช่น เรดาร์ตรวจอากาศ Solid-state X-band RID สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์, แพลตฟอร์ม SWAMP ที่ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำหลักเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลน้ำครบวงจร และเทคโนโลยี rriSAT สำหรับประเมินความต้องการใช้น้ำของพืชล่วงหน้า เพื่อยกระดับการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้แม่นยำ มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนยิ่งขึ้น

การเสวนาครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานปฏิบัติ และหน่วยงานนโยบาย ในการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านทรัพยากรน้ำที่ซับซ้อนและรุนแรงขึ้นในภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *