“สุขภาพแกร่ง ไทยไม่แพ้ภัยแผ่นดินไหว”: ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สธ. กทม. ผนึกกำลังเสริมแกร่งระบบสุขภาพไทยรับมือแผ่นดินไหว

“สุขภาพแกร่ง ไทยไม่แพ้ภัยแผ่นดินไหว”: ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สธ. กทม. ผนึกกำลังเสริมแกร่งระบบสุขภาพไทยรับมือแผ่นดินไหว

กรุงเทพฯ, 15 พฤษภาคม 2568 – แผ่นดินไหว นับเป็นภัยธรรมชาติที่ยากต่อการคาดการณ์และได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่เคยได้รับผลกระทบ ทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน และโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่เพียงแต่ก่อความเสียหายทางกายภาพ แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบสาธารณสุข การที่โรงพยาบาลต้องหยุดให้บริการฉุกเฉิน การอพยพผู้ป่วย การขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และความยากลำบากในการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ล้วนเป็นบทเรียนสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมสร้างความพร้อมและความแข็งแกร่งของระบบบริการสุขภาพให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, กระทรวงสาธารณสุข, กรุงเทพมหานคร, เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) และเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR) ได้ร่วมมือบูรณาการองค์ความรู้และประสบการณ์จากหลายภาคส่วน จัดงานเสวนาวิชาการ “สุขภาพแกร่ง ไทยไม่แพ้ภัยแผ่นดินไหว” (Toward Resilient Health: Thailand against Earthquake Threats) ขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องประชุม Auditorium ชั้น 3 อาคารคณะแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์.

งานเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงอาสาสมัครชุมชน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต.

ไฮไลท์ของการเสวนาประกอบด้วยการนำเสนอข้อมูลและมุมมองจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ:

  • รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้บรรยายถึงการบริหารจัดการภัยพิบัติในเขตเมืองใหญ่ และนำเสนอยุทธศาสตร์ของกรุงเทพมหานครเพื่อความปลอดภัยและการตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ.
  • ผศ.ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร ให้ความรู้ด้านวิศวกรรมเพื่อระบบสุขภาพที่ยั่งยืน ทั้งในประเด็นการซ่อมแซมหรือเสริมความแข็งแรงให้กับอาคารเก่า และหลักการออกแบบอาคารใหม่ให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ดีขึ้น.
  • รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเปิดมุมมองเกี่ยวกับความท้าทายและการเตรียมพร้อมของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงการบูรณาการความเป็นผู้นำทางการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติ.
  • นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอแนวคิดระบบสุขภาพยืดหยุ่น (Resilient Health System) พร้อมทั้งกล่าวถึงนโยบายและแนวทางปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุขในการเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหวในระดับประเทศ.

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาถอดบทเรียนอันทรงคุณค่าในประเด็นการเตรียมรับมือเมื่อเกิดเหตุและการฟื้นตัวของโรงพยาบาลไทย ซึ่งดำเนินรายการโดย นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมืองและเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR) และ ผศ.ดร.พญ.ภัทรานิษฐ์ ภัทรพรเจริญ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์แพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์.

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ในฐานะประธานการจัดงาน ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเสวนาวิชาการครั้งนี้มุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และบทเรียนอันมีค่า เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบสาธารณสุขที่ยืดหยุ่น แข็งแกร่ง และยั่งยืน พร้อมที่จะรองรับและรับมือกับภัยพิบัติในอนาคตได้อย่างแท้จริง เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชนชาวไทย”

งาน “สุขภาพแกร่ง ไทยไม่แพ้ภัยแผ่นดินไหว” จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือและเสริมสร้างศักยภาพของระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย ให้พร้อมเผชิญหน้ากับความท้าทายจากภัยพิบัติธรรมชาติที่ไม่แน่นอนในอนาคต.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *