WGC เผย ไทยผงาดแชมป์ลงทุนทองอาเซียน Q1/2568 ความต้องการพุ่งแรง 25%

กรุงเทพฯ – สภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) เปิดเผยรายงานล่าสุดประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ชี้ ไทยขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีความต้องการลงทุนทองคำสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำเพื่อการลงทุนของไทยในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ ได้พุ่งสูงขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แตะระดับ 7.4 ตัน ซึ่งนับเป็นไตรมาสแรกที่แข็งแกร่งที่สุดของไทยนับตั้งแต่ปี 2562

รายงานระบุว่า ความต้องการทองคำภาคผู้บริโภคโดยรวมของไทย ซึ่งรวมทั้งการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำ และความต้องการทองคำเครื่องประดับ ในไตรมาสที่ 1 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 9.1 ตัน เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อนหน้า และเป็นการเติบโตในอัตรารายไตรมาสที่สูงที่สุดในบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกสำรวจในรายงานนี้

ในระดับโลก ความต้องการทองคำโดยรวมจากทุกภาคส่วน รวมถึงการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over-the-counter: OTC) อยู่ที่ 1,206 ตัน เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แม้จะอยู่ในสภาวะที่ราคาทองคำพุ่งสูงทำสถิติใหม่ และทะลุระดับ 3,000 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์

แรงขับเคลื่อนสำคัญที่ผลักดันความต้องการลงทุนทองคำทั่วโลกให้เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นกว่าสองเท่า หรือคิดเป็น 170% อยู่ที่ระดับ 552 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2565 มาจากการฟื้นตัวของกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำแท่ง (ETF) โดยมีกระแสเงินไหลเข้าสู่กองทุน ETF ทั่วโลกอย่างรวดเร็วในไตรมาสแรก คิดเป็นปริมาณความต้องการ 226 ตัน ปัจจัยหนุนมาจากการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาทองคำ และความไม่แน่นอนด้านนโยบายที่ผลักดันให้นักลงทุนมองหาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำเพื่อการลงทุนทั่วโลกยังคงแข็งแกร่ง เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 325 ตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักลงทุนรายย่อยในประเทศจีนที่มีปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก ถือเป็นไตรมาสที่สูงที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติการณ์ ขณะที่ความต้องการจากฝั่งตะวันตกค่อนข้างอ่อนแอ โดยความต้องการในสหรัฐอเมริกาลดลง 22% แม้ว่าในยุโรปจะมีการฟื้นตัวเล็กน้อย แต่ก็จากฐานตัวเลขที่ต่ำมากในปีก่อนหน้า

ด้านธนาคารกลางทั่วโลกยังคงเดินหน้าซื้อทองคำสุทธิเป็นปีที่ 16 ติดต่อกัน โดยได้เพิ่มปริมาณทองคำสำรองทั่วโลกอีก 244 ตันในไตรมาสแรก สะท้อนถึงสภาวะความไม่แน่นอนระดับโลกที่ยังคงดำเนินอยู่ แม้ความต้องการของธนาคารกลางจะลดลง 21% จากปีก่อนหน้า แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยรายไตรมาสในช่วงสามปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการซื้อในระดับที่สูงต่อเนื่อง

สำหรับความต้องการทองคำเครื่องประดับทั่วโลกนั้น เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ว่าได้รับผลกระทบเชิงลบจากราคาทองคำที่พุ่งทำสถิติสูงสุดใหม่ถึง 20 ครั้งในไตรมาสที่ 1 ทำให้ความต้องการโดยรวมลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2563 เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีความต้องการทองคำเครื่องประดับลดลง 8% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.7 ตัน เนื่องจากราคาทองคำที่สูงขึ้นกระตุ้นให้เกิดแรงขายทำกำไร อย่างไรก็ตาม มูลค่าตลาดทองคำเครื่องประดับทั่วโลกยังคงแข็งแกร่ง โดยเพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่ารวม 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ยกเว้นในประเทศจีน

ในส่วนของอุปทานทองคำรวมในไตรมาสแรก ทรงตัวในระดับเดียวกันกับปีก่อนหน้าอยู่ที่ 1,206 ตัน แม้ปริมาณการผลิตจากเหมืองแร่จะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์สำหรับไตรมาสแรก แต่อุปทานโดยรวมถูกชดเชยด้วยปริมาณการรีไซเคิลทองคำที่ลดลงเล็กน้อย ความต้องการทองคำในภาคเทคโนโลยียังคงทรงตัวอยู่ที่ 80 ตัน

คุณเซาไก ฟาน หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางระดับโลก ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า การลงทุนจากผู้บริโภคในกลุ่มประเทศอาเซียนยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะประเทศไทยที่ได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ราคาทองคำเชิงบวก ทำให้ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำพุ่งสูงขึ้นถึง 25% แม้จะลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากแรงขายทำกำไรที่มาจากราคาทองที่สูงขึ้น แต่ตลาดทองคำไทยยังคงแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับบางประเทศในภูมิภาค

คุณหลุยส์ สตรีท นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโส ของสภาทองคำโลก กล่าวเสริมว่า ต้นปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับตลาดโลกจากความไม่แน่นอนต่างๆ ทั้งทางการค้า นโยบายสหรัฐฯ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความต้องการลงทุนในทองคำในไตรมาสแรกพุ่งสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2559 และคาดว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากทุกภาคส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *