นักวิชาการระดมสมอง ปฏิรูปการศึกษาไทย สู่มาตรฐานสากล
เมื่อวันที่ 5-6 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเสวนาทางการศึกษาเรื่อง “ปฏิรูปการศึกษาด้วยการพลิกโฉมกระบวนการเรียนรู้เพื่อตอบหลักสูตรการศึกษาชาติสู่มาตรฐานสากลโลก” ขึ้นที่โรงเรียนดรุณาราชบุรี จังหวัดราชบุรี โดยมีนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาร่วมเสวนา
ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ อดีตกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษา และประธานบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ กล่าวว่า การศึกษาของโลกปัจจุบันให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (Learning by Doing) ซึ่งต้องผ่านประสาทสัมผัส และสร้างประสบการณ์จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับสิ่งแวดล้อม
“ระบบการศึกษาของไทยยังติดกับดักวนซ้ำซาก โดยซ่อมแซมเพียงภายนอกแต่ไม่แก้ไขที่แก่นแท้ ส่งผลให้เด็กไทยเก่งสอบแต่ไม่เก่งคิด เก่งทฤษฎีแต่ใช้ชีวิตไม่เป็น” ดร.ศักดิ์สิน กล่าว พร้อมชี้ให้เห็นผลคะแนน PISA และ O-NET ที่ต่ำอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
ด้าน ผศ.ดร.อภิสิทธิ์ กฤษเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนดรุณาราชบุรี กล่าวว่า ห้องเรียนในปัจจุบันควรเปลี่ยนจากพื้นที่ของการสั่งสอน เป็นพื้นที่ของการค้นพบ โดยให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และครูต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้สอน” เป็น “ผู้เข้าใจเด็ก”
บาทหลวงเดชา อาภรณ์รัตน์ หัวหน้าเขตการศึกษาที่ 6 อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ กล่าวว่า การศึกษาควรมุ่งพัฒนาทั้งความรู้และคุณธรรม โดยเฉพาะในระดับปฐมวัย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้
ผู้ร่วมเสวนาทุกท่านเห็นพ้องกันว่า การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดของครู และเปิดโอกาสให้เด็กได้คิด ได้ลงมือทำ รวมถึงได้เรียนรู้จากความผิดพลาด เพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลกในศตวรรษที่ 21