‘สุริยะ’ ต้อนรับ รมว.คมนาคมมาเลเซีย เยือนสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ศึกษาโครงการ HSR เชื่อมโยงภูมิภาค
กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้การต้อนรับ H.E. Loke Siew Fook รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาเลเซีย และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
การเยือนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อศึกษาดูงานด้านระบบราง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในระดับภูมิภาค โดยคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาเลเซียได้เข้าเยี่ยมชมสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางระบบรางที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ คณะผู้เยือนได้เข้าชมบริเวณชั้น 3 ซึ่งได้รับการออกแบบและก่อสร้างเพื่อรองรับการให้บริการรถไฟความเร็วสูงในอนาคต รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา) โครงการเหล่านี้ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะยกระดับการเดินทางและระบบโลจิสติกส์ของประเทศ และเชื่อมโยงการคมนาคมในภูมิภาคได้อย่างไร้รอยต่อ
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว และนครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงของประเทศเพื่อนบ้าน
ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเร่งรัดการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 โครงการหลัก ได้แก่:
1. โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ระยะทางรวม 251 กิโลเมตร ขณะนี้มีความคืบหน้ารวมประมาณ 42.91% โดยเฉพาะในส่วนสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ–ดอนเมือง ซึ่งเป็นโครงสร้างที่จำเป็นต้องก่อสร้างร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ระหว่างการนำเสนอแนวทางแก้ไขโครงการต่อคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะสามารถเริ่มออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างร่วมได้ภายในปี 2568
2. โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย) ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร มีกรอบวงเงินลงทุน 341,351.42 ล้านบาท ประกอบด้วยสถานีสำคัญ 5 แห่ง ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย เส้นทางนี้เป็นส่วนต่อเนื่องของโครงการระยะที่ 1 และมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเชื่อมต่อโครงข่ายไปยัง สปป.ลาว และจีน
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้การรถไฟฯ ดำเนินการในส่วนของการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน การชดเชยทรัพย์สิน และการก่อสร้างงานโยธาภายในกรอบวงเงินที่กำหนด พร้อมทั้งให้จัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเสนอเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีต่อไป
นอกจากโครงการ HSR แล้ว การเยือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาเลเซียในครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสสำคัญในการกระชับความร่วมมือทวิภาคีด้านการพัฒนาระบบรางระหว่างไทยและมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการเชื่อมต่อระบบขนส่งสินค้าและผู้โดยสารผ่านแดน ปัจจุบันมีการเดินขบวนรถสินค้าคอนเทรนเนอร์ในเส้นทางชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ – ชุมทางหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ จำนวน 40 ขบวนต่อเดือน และขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศ “มายสวัสดี” ในเส้นทาง KL Sentral – สถานีชุมทางหาดใหญ่ – KL Sentral (กัวลาลัมเปอร์) ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามพรมแดนบริเวณปาดังเบซาร์และบัตเตอร์เวิร์ธ ประเทศมาเลเซียได้อย่างสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น
ความร่วมมือด้านระบบรางดังกล่าว ตอกย้ำความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งให้ตอบโจทย์ความต้องการทั้งด้านการขนส่งคนและสินค้าในระดับภูมิภาค และสนับสนุนเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ