สมาคมกีฬาจักรยานฯ เตรียมจัดศึกใหญ่สนามลู่ชิงแชมป์ประเทศไทย คัดนักปั่นเสริมทัพซีเกมส์-เอเชียคัพ พร้อมผนึกผู้เชี่ยวชาญวิทย์ฯ กีฬา ยกระดับทีมชาติ

สมาคมกีฬาจักรยานฯ เตรียมจัดศึกใหญ่สนามลู่ชิงแชมป์ประเทศไทย คัดนักปั่นเสริมทัพซีเกมส์-เอเชียคัพ พร้อมผนึกผู้เชี่ยวชาญวิทย์ฯ กีฬา ยกระดับทีมชาติ

พลเอกเดชา เหมกระศรี หรือ "เสธ.หมึก" รองประธานสมาพันธ์จักรยานแห่งเอเชีย (เอซีซี), ประธานสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน (เอซีเอฟ) และนายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดของสมาคมฯ ว่า สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ มีกำหนดจัดการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน "ควีนส์สิริกิติ์" ประจำปี 2568 สนามที่ 2 ขึ้น ระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม ศกนี้ ณ สนามเวลโลโดรม ภายในอาคารเวลโลโดรม การกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก กรุงเทพมหานคร

พลเอกเดชา กล่าวเน้นย้ำถึงวัตถุประสงค์หลักของการจัดการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยในแต่ละปี รวมทั้งสิ้น 28 สนามในทุกประเภทว่า เพื่อเป็นการสร้างและพัฒนานักกีฬาหน้าใหม่ขึ้นมาประดับวงการจักรยานไทยอย่างต่อเนื่อง โดยนักกีฬาที่มีผลงานโดดเด่นและทำสถิติได้ดีในการแข่งขันรายการต่าง ๆ จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เข้าสู่ทำเนียบนักกีฬาทีมชาติไทย ทั้งในระดับเยาวชนและระดับประชาชน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการแข่งขันระดับนานาชาติต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-21 ธันวาคม ในส่วนของกีฬาจักรยานประเภทลู่จะมีการชิงชัยกันทั้งหมด 5 เหรียญทอง ซึ่งสมาคมฯ ได้คัดเลือกนักกีฬาชุดแรกเพื่อเก็บตัวฝึกซ้อมไว้แล้วที่เวลโลโดรม สนามกีฬาแห่งที่ 2 โรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี อย่างไรก็ตาม พลเอกเดชา กล่าวว่า หากมีนักปั่นที่มีศักยภาพและความโดดเด่นสามารถสอดแทรกขึ้นมาได้จากการแข่งขันประเภทลู่ชิงแชมป์ประเทศไทย สนามที่ 2 นี้ ก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับการพิจารณาเรียกตัวเข้าเสริมทีมชาติชุดซีเกมส์ต่อไป

นอกจากโอกาสในการเข้าสู่ทีมชาติชุดซีเกมส์แล้ว การแข่งขันสนามนี้ยังเป็นเวทีสำคัญสำหรับนักกีฬาจักรยานประเภทลู่ทั้งรุ่นประชาชนและเยาวชน ที่จะได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ เพื่อคว้าโอกาสในการเข้าร่วมเก็บตัวฝึกซ้อมเตรียมสู้ศึกจักรยานประเภทลู่นานาชาติรายการ "แทร็ค เอเชีย คัพ 2025" ซึ่งสมาคมกีฬาจักรยานฯ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 สิงหาคม ศกนี้ ที่สนามเวลโลโดรม สนามกีฬาแห่งที่ 2 โรงเรียนกีฬาสุพรรณบุรี โดยสต๊าฟโค้ชประเภทลู่ทีมชาติไทยจะพิจารณาคัดเลือกนักกีฬาที่มีผลงานโดดเด่นในแต่ละรายการจากการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยนี้ เพื่อเข้าร่วมฝึกซ้อมและเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขัน Track Asia Cup ต่อไป

พร้อมกันนี้ พลเอกเดชา ยังเปิดเผยถึงการให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพของนักกีฬาทีมชาติไทย โดยในวันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับการแข่งขันประเภทลู่ชิงแชมป์ประเทศไทยฯ สนามที่ 2 ทาง พลตรี นพ.ภูษิต เฟื่องฟู อุปนายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ฝ่ายแพทย์ ได้นัดหมายคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาจากหลากหลายสาขาเข้ามาประชุมหารือถึงแนวทางการดำเนินการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬากับทีมสองล้อทีมชาติไทยชุดซีเกมส์ ครั้งที่ 33 อย่างเป็นทางการ

คณะผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้าร่วมประชุมประกอบด้วย:

  • นพ.พงศ์ภากร ศรธนะรัตน์: แพทย์เฉพาะทาง ผู้เชี่ยวชาญด้าน Exercise Medicine และ Strength and Condition Exercise จะดูแลเรื่องการฝึกซ้อมด้านเวทเทรนนิงและการฝึกซ้อมในยิมเนเซียม
  • ผศ.ดร.วิมลมาศ ประชากุล: ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการกีฬา ให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาโดยเฉพาะก่อนแข่งขันและระหว่างการฝึกซ้อม
  • พอ.นพ.อรรถสิทธิ สิทธิถาวร: แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู และเวชศาสตร์การกีฬา ดูแลเรื่องการรักษาอาการบาดเจ็บและพักฟื้นของนักกีฬา
  • ดร. อลิสา นานา: ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ให้คำแนะนำด้านอาหารและโภชนาการสำหรับนักกีฬา
  • ร.ต.นพ.ธฤต อิงครัตน์: แพทย์เฉพาะทางออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์การกีฬา เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาอาการบาดเจ็บกระดูกและข้อ
  • นพ.เจษฎา จารุพงศา: แพทย์เฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ประจำการกีฬาแห่งประเทศไทย

พลเอกเดชา กล่าวเสริมว่า การร่วมหารือระหว่างทีมผู้ฝึกสอนของสมาคมฯ กับคณะแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาในครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อร่วมกันวางแผนและกำหนดแนวทางการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามาปรับใช้กับนักกีฬาทีมชาติไทยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นเจ้าเหรียญทองกีฬาจักรยานในกีฬาซีเกมส์ปลายปีนี้ และยกระดับศักยภาพนักกีฬาไทยให้ทัดเทียมนานาชาติในระยะยาว

นอกจากนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญยังมีโอกาสในการสังเกตการณ์การแข่งขันจักรยานประเภทลู่ในวันดังกล่าว เพื่อศึกษาลักษณะเฉพาะตัวของการแข่งขันแต่ละอีเวนท์ โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างประเภทลู่ระยะสั้นกับระยะกลาง เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการพิจารณาและวางแนวทางการใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาที่แต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาปรับใช้กับนักกีฬาจักรยานไทยต่อไปในอนาคตอีกทางหนึ่ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *