สำนักงบประมาณ สุดปลื้ม! เบิกจ่ายงบลงทุนปี 68 ทะลุเป้า 72.93% ดันเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง
กรุงเทพมหานคร – นายอนันต์ แก้วกำเนิด ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
การเปิดเผยดังกล่าวมีขึ้นภายหลังการประชุมร่วมกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญหน่วยงานต่างๆ ที่มีงบลงทุนจำนวนมากเข้ามาชี้แจงปัญหาและอุปสรรคในการเบิกจ่าย เพื่อร่วมกันแก้ไขให้การใช้จ่ายเงินภาครัฐเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
นายอนันต์ กล่าวว่า จากการติดตามล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 30 มีนาคม 2568 พบว่า การเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนของงบลงทุนเป็นไปอย่างน่าพอใจอย่างยิ่ง โดยจากกรอบวงเงินงบลงทุนรวม 9.08 แสนล้านบาท สามารถเบิกจ่ายได้แล้วกว่า 72.93% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 66% อย่างชัดเจน คิดเป็นวงเงินที่มีการเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 6.2 แสนล้านบาท
“ตัวเลขการเบิกจ่ายงบลงทุนกว่า 72.93% นี้ ถือเป็นอัตราการเบิกจ่ายที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในหลายปีงบประมาณที่ผ่านมา หรือสูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐในการเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงาน” นายอนันต์ กล่าวพร้อมเสริมว่า การเบิกจ่ายที่ทำได้สูงกว่าเป้าหมายนี้ส่วนหนึ่งมาจากบทบาทของนายกรัฐมนตรีที่ได้ลงมาติดตามและแก้ไขปัญหาการเบิกจ่ายด้วยตนเองตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณยังได้กล่าวถึงแผนการผูกพันงบประมาณในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2568 ว่า จะมีงบประมาณที่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังอีก 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ โครงการใหม่ที่จะมีการผูกพันงบประมาณ วงเงินประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายภายในปีงบประมาณนี้ได้ประมาณ 15-20% และอีกส่วนหนึ่งคือโครงการผูกพันงบประมาณที่ผูกพันไว้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 วงเงินรวมประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งงบประมาณเหล่านี้จะช่วยเสริมสภาพคล่องและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังได้เป็นอย่างดี
ส่วนกรณีคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์การขึ้นภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณปี 2569 และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในอนาคต นายอนันต์ ชี้แจงว่า ขณะนี้นโยบายของรัฐบาลยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอะไร และยังคงใช้สมมุติฐานทางเศรษฐกิจตามเดิม ส่วนในระยะต่อไปจะมีการประเมินสถานการณ์และผลกระทบอีกครั้งเพื่อพิจารณาความเหมาะสมต่อไป