THA ครบรอบ 5 ปี จัดงาน ‘สร้าง ทำ สุข 2025’ ชูแนวคิด ‘ปลูก-ปรับ-เปลี่ยน’ เปิด 26 หลักสูตรใหม่ ปั้นนักสร้างเสริมสุขภาพ สร้างสังคมสุขภาวะยั่งยืน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 เป็นจุดเริ่มต้นของ ThaiHealth Academy (THA) หรือ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้การดูแลของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ตั้งเป้าหมายพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างคนที่มีสุขภาวะดีในทุกด้าน ทั้งการสื่อสาร การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการผลักดันให้สังคม-สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อสุขภาพ

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา THA ได้ขับเคลื่อนพันธกิจอย่างจริงจัง พัฒนาหลักสูตรด้านการสร้างเสริมสุขภาพแล้วกว่า 220 หลักสูตร มีผู้เข้าร่วมสะสมมากกว่า 9,181 คน ที่ได้นำความรู้ไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตจริง และในโอกาสพิเศษครบรอบ 5 ปีนี้ THA ได้ยกระดับบทบาทด้านการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะ ด้วยการจัดงานเสวนาครั้งใหญ่ “สร้าง ทำ สุข 2025” ชูแนวคิด ‘ปลูก-ปรับ-เปลี่ยน’ พร้อมเปิดตัว 26 หลักสูตรใหม่ ที่จะปั้นนักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ เพื่อต่อยอดสู่การสร้างสังคมสุขภาวะอย่างยั่งยืน

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 กล่าวว่า สสส. มีวิสัยทัศน์มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ และยกระดับขีดความสามารถการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะของไทย THA จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงขยายฐานผู้รับประโยชน์ สร้างนักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพให้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมสุขภาวะทั้งระดับชาติและสากล

“โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยความท้าทายและความไม่แน่นอน การเรียนรู้และพัฒนาทักษะจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเฉพาะ ‘ทักษะการเอาตัวรอด’ ซึ่งประกอบด้วย 10 ทักษะสำคัญ เช่น Analytical thinking, Creative thinking, AI and big data, Empathy and active listening, Motivation and self-awareness, Curiosity and lifelong learning” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวและเสริมว่า แม้องค์กรต้องการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ (Learning Culture) แต่ทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่ต้องมีทักษะเหล่านี้ อย่าท้อ และต้องมองเห็นความหวังในการสร้างวัฒนธรรมที่ดีทางด้านสุขภาพ ขยายสู่วัฒนธรรมที่ดีด้านธุรกิจ การงาน

ด้าน ศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน THA มีหลักสูตรการเรียนรู้ 26 หลักสูตร รองรับผู้เข้าอบรมมากกว่า 1,265 คนต่อปี ครอบคลุมทั้งทักษะเชิงเทคนิค ความรู้ด้านสุขภาวะ การบริหารจัดการ ไปจนถึงการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ โดยมีหลักสูตรเด่น เช่น หลักสูตรการสื่อสารการตลาดเพื่อธุรกิจสุขภาพ หลักสูตร Generative AI กับการขับเคลื่อนพลังความคิดและนวัตกรรม รวมถึง ‘หลักสูตร AI และ Big Data’ ที่มุ่งเสริมความรู้เท่าทันเทคโนโลยีให้สังคม โดยใช้ AI เป็นเครื่องมือสนับสนุนการสร้างสังคมสุขภาวะ ไม่ใช่สิ่งทดแทนความสัมพันธ์หรือความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ หลักสูตรนี้มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ‘Active Citizen’ ประชาชนที่ตื่นรู้ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมถึงส่งเสริมบทบาทผู้ใหญ่ในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กและผู้สูงอายุ ที่อาจปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

ศ.ดร.นพ.นันทวัช กล่าวอีกว่า หลักสูตรของ THA พัฒนาจากการศึกษาข้อมูลภาคสนาม เทรนด์เทคโนโลยี นโยบายทั้งในและต่างประเทศ ก่อนนำมาทดสอบและปรับปรุงให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้แนวคิด ‘ปลูก-ปรับ-เปลี่ยน’ เปรียบเสมือนต้นไม้ที่ต้องเติบโตอย่างยืดหยุ่น สะท้อนเจตนารมณ์การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาทักษะใหม่ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ “ปลูก คือ ปลูกนิสัยการเรียนรู้ สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในองค์กร ปรับ คือ ปรับตัวให้ทันโลก พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยน คือ เปลี่ยนสังคมอย่างสร้างสรรค์ นำสังคมไปสู่ความเป็นธรรมและสุขภาวะที่ดี ผ่านเครือข่ายการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง”

ภายในงานยังมีเสวนา ‘สมดุลในการใช้ AI และหัวใจมนุษย์ : การเพิ่มศักยภาพทางการเรียนรู้ในยุค AI’ โดย คุณโชค วิศวโยธิน Co-Founder Debuz & GAMEINDY ผู้ร่วมแต่งหนังสือ Chat GPT: AI ปฏิวัติโลก ได้เล่าว่า ในอดีต AI มักเน้น Machine Learning และ Deep Learning เพื่อคาดการณ์อนาคตจากข้อมูลในอดีต แต่ปัจจุบันก้าวสู่ยุค Consumer AI อย่าง ChatGPT ที่เน้นการผลิตและสร้างสรรค์ผลงานสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป

คุณโชคชี้ว่า Consumer AI ช่วยเพิ่มศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ส่วนบุคคลได้ชัดเจน ทำให้ปริมาณงานสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น คุณภาพงานดีขึ้น และลดช่องว่างความคิดสร้างสรรค์ระหว่างบุคคลได้ แต่ในภาพรวม ความหลากหลายของความคิดสร้างสรรค์ในสังคมอาจน้อยลง แนวทางที่เหมาะสมคือ “AI draft, Human craft” ให้ AI ช่วยร่างแนวคิดเบื้องต้น แล้วใช้ความสามารถของมนุษย์ในการต่อยอด ขัดเกลา และสร้างสรรค์งาน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ THA ที่มุ่งเสริมศักยภาพมนุษย์ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านสุขภาวะ การเรียนรู้ และการปรับตัว

“แม้ AI จะเป็นผู้ช่วยที่ดี แต่การพึ่งพาอย่างพอดี และการรักษาความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ยังคงจำเป็น หากปล่อยให้ AI ทำงานแทนทั้งหมด มนุษย์จะเสี่ยงต่อการถูกลดคุณค่าและมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจน้อยลง” คุณโชคกล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *