ทีดีอาร์ไอ ชี้ ปรับ ครม. เสี่ยงทำนโยบายสะดุด ห่วงปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยรุนแรง แนะรัฐเร่งแก้หนี้-เพิ่มขีดแข่งขันระยะยาว

กรุงเทพฯ – สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เริ่มมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นรวดเร็ว โดยชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงมักส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของนโยบายที่กำลังดำเนินการอยู่

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ในทางวิชาการ การเปลี่ยนตัวผู้บริหารองค์กรย่อมมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องกับนโยบายเดิม อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วยว่านโยบายที่ดำเนินการอยู่นั้นเป็นนโยบายที่ดีหรือไม่ หากเป็นนโยบายที่เหมาะสม ก็คาดหวังว่าผู้บริหารใหม่จะสานต่อ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศ

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เคยมีแผนจะออกมาในรูปแบบต่างๆ นั้น นายนณริฏ มองว่าอาจต้องชะลอออกไป ซึ่งส่วนตัวแล้วเขายังไม่สนับสนุนให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะชะลอตัวรุนแรงถึงขั้นติดลบเหมือนช่วงวิกฤตใหญ่ๆ เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง หรือการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา สถานการณ์ปัจจุบันคือการเติบโตที่ชะลอลงจากเดิม (โตต่ำลง) แต่ยังคงสามารถขยายตัวได้อยู่ จึงอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมากกว่า

นายนณริฏ ชี้ว่า ปัญหาหลักของประเทศไทยในขณะนี้คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึก ประชาชนส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินสูง มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายและการเลี้ยงปากท้องลดลง ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็ประสบปัญหาภาระหนี้เช่นกัน และยังเข้าถึงแหล่งเงินกู้หรือสินเชื่อได้ยากขึ้น หากปัญหานี้ถูกปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลให้ปัญหาหนี้เสีย (NPL) เพิ่มสูงขึ้นตามมา

นอกจากปัญหาภายใน ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก เช่น บรรยากาศเชิงลบที่สหรัฐอเมริกาอาจปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการค้าขาย ทำให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจลดลง ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่แล้วทวีความรุนแรงมากขึ้น

“เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงจากกำแพงภาษีสหรัฐ แม้ยืดเวลาออกไปก่อน แต่ยังไม่สิ้นสุดลง ทำให้รัฐบาลไทยต้องเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างรอบคอบ โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันหาทางออก ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยเฉพาะการพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวกับประเทศไทย หรือโครงสร้างของประเทศไทย ทั้งในแง่การค้า การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจรวม” นายนณริฏ กล่าว

นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ ย้ำว่า รัฐบาลควรหันมามองการแก้ไขปัญหาในระยะกลางและระยะยาวอย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวมากกว่าการใช้มาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืนคือสิ่งจำเป็นเร่งด่วนสำหรับเศรษฐกิจไทยในขณะนี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *