ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี 10 วัน ‘สายน้ำ-ตะวัน’ และพวก 9 คน คดีชุมนุมหน้า สน.สำราญราษฎร์ – ยื่นประกันอุทธรณ์
กรุงเทพฯ – วันที่ 28 เมษายน 2568 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและทำกิจกรรมที่หน้าสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 โดยพิพากษาจำคุกนักกิจกรรมรวม 9 คน ประกอบด้วย ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน), แบม อรวรรณ, สายน้ำ, มอส (นามสมมติ), ธี (นามสมมติ), ออย สิทธิชัย, บังเอิญ, แก๊ป จิรภาส และแบงค์ ณัฐพล คนละ 2 ปี 10 วัน
คดีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ชุมนุมในกิจกรรม “ใครใคร่ ด่า ด่า ใครใคร่สาด สาด #Saveหยก” เพื่อทวงถามการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในคดีของ หยก นักกิจกรรมเยาวชนที่ถูกคุมขังจากคดีมาตรา 112
ตามคำพิพากษาของศาล ระบุว่า จำเลยทั้ง 9 คน มีความผิดหลายฐาน ได้แก่ ทำให้เสียทรัพย์, บุกรุก, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน โดยศาลได้ลงโทษฐานบุกรุก ซึ่งถือเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 2 ปี และลงโทษฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน จำคุกคนละ 10 วัน รวมจำคุกจำเลยทั้ง 9 คน เป็นเวลาคนละ 2 ปี 10 วัน
รายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ว่า กลุ่มนักกิจกรรมและมวลชนราว 30 คน ได้รวมตัวกันที่หน้า สน.สำราญราษฎร์ โดยมีการทำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น การปีนขึ้นไปบนรถตำรวจ, ตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่, การพ่นสีสเปรย์ใส่บริเวณบันได ตัวอาคาร สน.สำราญราษฎร์ รถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และบริเวณศาลพระภูมิ
นอกจากนี้ ยังมีการจุดพลุควันแล้วปาใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่บนอาคาร มีการใช้กำลังทำลายทรัพย์สินราชการ และมีการปลุกระดมมวลชนให้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ โดยมีการปาสีกระป๋องและถุงเลือดเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะถอยออกไปจากพื้นที่
ในเหตุการณ์ดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บจากการถูกปาสีกระป๋องใส่ ทำให้ศีรษะแตกเป็นแผลฉกรรจ์ ซึ่งนำไปสู่ความชุลมุนวุ่นวาย แม้เจ้าหน้าที่จะได้สั่งห้ามเข้ามาก่อความวุ่นวายแล้วก็ตาม
ภายหลังเหตุการณ์ ผู้ต้องหาทั้ง 9 คนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และถูกควบคุมตัวแยกกันไปยังสถานีตำรวจต่างๆ ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้รายงานถึงข้อเท็จจริงที่ได้รับจากผู้ต้องหาบางส่วนที่ถูกควบคุมตัวไปยัง สน.ลาดกระบัง ว่า พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่รุมทำร้ายร่างกายด้วยการกระทืบและใช้วาจาข่มขู่ อีกทั้งมีการยึดโทรศัพท์มือถือโดยไม่ได้รับความยินยอม ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัว
ล่าสุด จำเลยทั้ง 9 คน อยู่ระหว่างการยื่นขอประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์ต่อไป