ไต้หวันโชว์ความสำเร็จ 30 ปี ‘ระบบสุขภาพถ้วนหน้า’ ระดับโลก พร้อมเรียกร้อง WHO เปิดทางร่วมงาน WHA ย้ำ ‘สุขภาพคือสิทธิมนุษยชน’
เจนีวา, สวิตเซอร์แลนด์ – การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly – WHA) สมัยที่ 77 ที่กำลังจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 ถึง 27 พฤษภาคมนี้ ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กำลังเป็นที่จับตา โดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพระดับโลกและอนาคตของระบบสาธารณสุขนานาชาติ ในโอกาสนี้ นายจางจวิ้นฝู ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ได้เปิดเผยบทความพิเศษ เน้นย้ำถึงความสำเร็จของไต้หวันด้านสุขภาพ พร้อมแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์อันทรงคุณค่ากับประชาคมโลก
นายจางจวิ้นฝู กล่าวในบทความว่า สุขภาพที่ดีถือเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานและเป็นค่านิยมสากลที่ได้รับการยอมรับร่วมกันระหว่างไทยและไต้หวัน การยกระดับสุขภาพของประชาชนไม่เพียงส่งผลต่อสวัสดิการและความผาสุข แต่ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการและความอยู่รอดของประเทศต่างๆ ทั่วโลก.
การประชุม WHA สมัยที่ 77 นี้ จะมีการพิจารณาแผนปฏิบัติงานฉบับที่ 14 (General Program of work, GPW14) ปี 2025-2028 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งรวมถึงกลยุทธ์การคุ้มครองทางการเงินเพื่อความเท่าเทียมสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งไต้หวันพร้อมอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันประสบการณ์ 30 ปีด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของตน.
ระบบหลักประกันสุขภาพของไต้หวันเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1995 เป็นระบบที่บูรณาการ ครอบคลุมประชากรกว่าร้อยละ 99.9 ทำให้ประชาชนทุกอาชีพและสถานะสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม ตลอดระยะเวลา 30 ปี ระบบนี้ได้มอบหลักประกันสุขภาพที่ยุติธรรม เข้าถึงง่าย และการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพสูง จนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของ Health Care Index โดยเว็บไซต์ฐานข้อมูล Numbeo ติดต่อกันถึง 7 ปี.
ด้านการบริหารการเงิน ระบบหลักประกันสุขภาพของไต้หวันใช้โมเดลที่ยั่งยืน สามารถรับมือกับต้นทุนการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นจากสังคมผู้สูงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการปฏิรูปอัตราเบี้ยประกันและการอุดหนุนจากแหล่งต่างๆ เช่น ภาษีสุขภาพสวัสดิการจากยาสูบ เพื่อให้ระบบสามารถพัฒนาได้อย่างมั่นคง.
เพื่อยกระดับสุขภาพประชาชนให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ได้นำเสนอแนวนโยบาย “ไต้หวันสุขภาพดี” ในปี 2024 มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเป็นสำคัญ ผ่านโครงการ “แพทย์ประจำครอบครัว” และ “ชุมชนช่วยดูแลถ้วนทั่ว” เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังครบวงจร พร้อมนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มายกระดับบริการทางการแพทย์ รวมถึงการผลักดันการดูแลระยะยาวและการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างมีศักดิ์ศรี.
ไต้หวันยังใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสร้างระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ระบบประวัติการรักษาบนคลาวด์ที่เชื่อมต่อถึงกัน การใช้ทรัพยากร FHIR (Fast Healthcare Interoperability Resource) แลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษาระหว่างประเทศ และการนำ AI มาใช้ในการแพทย์อัจฉริยะ รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อติดตามข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลได้อย่างทันท่วงที.
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2023 ไต้หวันได้นำเวชภัณฑ์บำบัดด้วยยีนและเซลล์ (Cellular and gene therapies) เข้ามาในระบบหลักประกันสุขภาพนำร่อง เพื่อส่งเสริมการแพทย์แม่นยำ และพัฒนาการรักษาดูแลอัจฉริยะ ยกระดับคุณภาพและปริมาณบริการทางการแพทย์ให้กับประชาชน.
แม้จะเผชิญกับความท้าทายทางการเมือง แต่ไต้หวันยังคงมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณสุขทั่วโลก และเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ ประสบการณ์ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การจัดการทางการเงิน และระบบสุขภาพดิจิทัลของไต้หวัน ถือเป็นข้อมูลอ้างอิงอันมีค่าที่พร้อมแบ่งปัน เพื่อช่วยให้ประเทศอื่นๆ บรรลุเป้าหมายการครอบคลุมสุขภาพถ้วนหน้าตามที่ WHO กำหนด.
อย่างไรก็ตาม ไต้หวันยังคงถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมใน WHO และกลไกความร่วมมือที่สำคัญระดับโลกนี้ เนื่องจากจีนยังคงบิดเบือนมติสหประชาชาติเลขที่ 2758 และมติ WHA 25.1 ซึ่งนายจางจวิ้นฝู ยืนยันว่า มติทั้งสองนี้ไม่ได้ระบุว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และไม่ได้ให้อำนาจสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตัวแทนไต้หวันใน WHO แต่อย่างใด.
ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันจึงเรียกร้องต่อ WHO และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้คำนึงถึงคุณูปการที่ไต้หวันมีต่อระบบสาธารณสุขโลก เรียกร้องให้ WHO เปิดกว้างและยืดหยุ่นมากขึ้น ยึดมั่นในหลักการความเป็นมืออาชีพและเอื้ออารีตามความเป็นจริง เชื้อเชิญให้ไต้หวันเข้าร่วม WHA การประชุม กิจกรรม และกลไกต่างๆ ของ WHO รวมถึงการประสานงานความตกลงด้านการระบาดใหญ่ (Pandemic Agreement) ที่กำลังหารือกันอยู่.
ไต้หวันหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้จับมือกับประชาคมโลก เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตสุขภาพที่ดีของโลกไร้พรมแดน ทำให้ “สุขภาพคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” ตามธรรมนูญของ WHO เป็นจริง และบรรลุเป้าประสงค์ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของสหประชาชาติ.