กมธ.วุฒิสภา เรียกถกปม ‘ตึก สตง.ถล่ม’ หลังแผ่นดินไหว! ‘ไมนฮาร์ท’ ยันไม่ใช่ปัญหาจากออกแบบ

รัฐสภา, ประเทศไทย – ความคืบหน้ากรณีอาคารที่ทำการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกิดการทรุดตัวเสียหายทั้งอาคาร หลังเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ล่าสุด คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้เชิญบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างเข้าชี้แจงข้อมูลแล้ว

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 ที่รัฐสภา พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. ในฐานะประธาน กมธ. เปิดเผยภายหลังการประชุม โดยได้เชิญ กิจการร่วมค้า PKW ซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรม และ บริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ออกแบบโครงสร้าง เข้าให้ข้อมูล

พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า เนื่องจากกรณีดังกล่าวได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมาก ทาง กมธ. จึงเข้ามาศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาว่า มีส่วนใดไม่ได้ดำเนินการตามสัญญาหรือไม่ ก่อนจะจัดทำรายงานส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จากการชี้แจงของบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงาน กิจการร่วมค้า PKW ยืนยันว่า การควบคุมการออกแบบก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญา การแก้ไขรายละเอียดสัญญา และการควบคุมเวลาการก่อสร้าง เป็นไปตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนด

ด้าน บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด ในฐานะผู้ออกแบบสถาปัตยกรรม ชี้แจงว่า การออกแบบเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ สตง. ที่ต้องการใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ส่วนประเด็นสำคัญอยู่ที่ บริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ออกแบบโครงสร้าง ซึ่งถูกสังคมตั้งข้อสังเกต พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ ระบุว่า บริษัทได้ประสานงานกับการกรมโยธาธิการและผังเมือง และออกแบบโดยมีการคำนึงถึงการรองรับการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวแล้ว ส่วนที่มีกระแสข่าวเรื่องการแก้แบบโครงสร้างนั้น บริษัทชี้แจงว่า เป็นส่วนที่ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างหลัก เป็นการปรับตามความเหมาะสมของการใช้งาน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและได้มาตรฐานสากล และได้รับการรับรองการออกแบบจากกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้ว ยืนยันว่าไม่มีใครคาดการณ์ว่าจะเกิดแผ่นดินไหว ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอน

สำหรับเรื่องการแก้แบบปล่องลิฟต์ ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นสาเหตุของการถล่มหรือไม่นั้น พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ ชี้แจงว่า เป็นการปรับลดเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงสร้างหลัก เช่น การปรับเปลี่ยนผนัง ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งมีการประชุมหารือและตรวจสอบทุกขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันว่าการแก้แบบเฉพาะส่วนปล่องลิฟต์ไม่ได้เป็นสาเหตุของการถล่ม เพียงแต่ยืนยันว่าการก่อสร้างเป็นไปตามแบบที่ได้รับการอนุมัติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบหลัก

ประธาน กมธ. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กมธ. ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุของการถล่มได้ในเบื้องต้น จะต้องฟังข้อมูลจากหลายฝ่ายก่อนพิจารณาในครั้งสุดท้าย โดยต่อจากนี้จะเชิญหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงเพิ่มเติม อาทิ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว นักวิชาการ นักธรณีวิทยา และตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่าการออกแบบได้มีการรองรับแผ่นดินไหวตามที่กฎหมายกำหนด

ส่วนกรณีคุณภาพเหล็กเส้นที่ใช้ในการก่อสร้าง แม้จะมีการสอบถามในที่ประชุม แต่บริษัทที่เข้าร่วมประชุมยังไม่สามารถตอบได้ เพียงระบุว่าเหล็กที่ผลิตจากโรงงานมีคุณภาพหนึ่ง แต่เมื่ออาคารถล่มแล้ว เหล็กมีการยืดและเปลี่ยนแปลงสภาพจากแรงตึง โดยวิศวกรที่ควบคุมการก่อสร้างก็ไม่สามารถควบคุมคุณภาพเหล็กได้โดยตรง

พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ ย้ำว่า การทำงานของ กมธ. เป็นการศึกษาคู่ขนานไปกับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบโดยตรง เพื่อชี้ให้เห็นจุดที่อาจมีข้อบกพร่องและผู้ที่ต้องรับผิดชอบ เชื่อว่าหน่วยงานต่างๆ เช่น ตำรวจ จะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป

ขณะที่ ตัวแทนบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนภายหลังการประชุม ถึงข้อสังเกตว่าปล่องลิฟต์บางกว่าปกติ โดยยืนยันว่า “ไม่ครับ ทุกอย่างเป็นไปตามหลักวิศวกรรม” เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า มีการเพ่งเล็งว่าสาเหตุตึกถล่มมาจากการออกแบบหรือไม่ ตัวแทนบริษัท ไมนฮาร์ท ชี้แจงอย่างชัดเจนว่า “เราเช็กแล้ว ไม่ได้มาจากจากการออกแบบของเรา ส่วนจะเป็นตรงไหน ขอให้คณะกรรมการตรวจสอบเป็นคนตอบ” พร้อมย้ำว่า สาเหตุที่ตึกถล่มไม่ได้มาจากการออกแบบ โดยที่ผ่านมาได้ให้ข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหลายหน่วยงานแล้ว และไม่ได้กังวลหลังจากที่สังคมพุ่งเป้ามาที่บริษัท

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *