กู้ซากตึก สตง. จ่อแล้วเสร็จ เม.ย.นี้ เจออุปสรรคเหล็กเส้นแข็ง ทำเครื่องจักรพัง 8 คัน คาดพบร่างเพิ่มชั้น 1

ศูนย์บัญชาเหตุการณ์เขตจตุจักร, 24 เม.ย. 68 – ความคืบหน้าภารกิจกู้ซากอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มลงมาในเขตจตุจักร ล่าสุด นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บัญชาเหตุการณ์ ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลจากทีมโดรนของสมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ ระบุว่า ปัจจุบันระดับความสูงของซากอาคารโซน A และ D อยู่ที่ 7.88 เมตร ซึ่งลดลงจากวานนี้ 1.37 เมตร ขณะที่โซน B และ C อยู่ที่ 6.54 เมตร ลดลงจากวานนี้ 87 เซนติเมตร

นายสุริยชัย กล่าวว่า เมื่อประเมินโดยเฉลี่ยแล้ว ความสูงของซากอาคารที่เหลืออยู่ประมาณ 7 เมตร ซึ่งถือว่ายังคงมีพื้นที่จัดเก็บซากอาคารเพียงพอ และคาดว่าจะแล้วเสร็จตามกำหนดเวลาที่ตั้งไว้คือภายในเดือนเมษายนนี้ โดยตั้งเป้าหมายจะขนย้ายซากอาคารออกนอกพื้นที่ให้ได้เฉลี่ยวันละ 1 เมตร ในช่วงเวลาที่เหลืออีก 7 วัน

อย่างไรก็ตาม ภารกิจกู้ซากยังคงต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญ นั่นคือลักษณะของเหล็กเส้นในโครงสร้างอาคารที่มีความเหนียวและมีปริมาณมาก ทำให้เครื่องจักรหนักที่ใช้ในการทำงานได้รับความเสียหาย เช่น เหล็กเส้นดีดกระจกแตก หรือเกี่ยวสายไฮดรอลิคขาด ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้เครื่องจักรไฮดรอลิคได้รับความเสียหายไปแล้วถึง 8 คัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการซ่อมแซมและรอเปลี่ยนอะไหล่

เพื่อแก้ปัญหาและให้การทำงานมีความต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ได้มีการใช้วัสดุทดแทนชั่วคราว และประสานงานให้เจ้าหน้าที่ตัดเหล็กเข้ามาช่วยปฏิบัติงานร่วมด้วย โดยเฉพาะในช่วงเวลา 00.00 น. ถึง 07.00 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ตัดเหล็กจากกองทัพบกและกองทัพเรือจะเข้ามาร่วมปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเปิดพื้นที่และช่วยให้เครื่องจักรหนักสามารถยกปูนออกได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ในส่วนของการค้นหาผู้สูญหาย ล่าสุดเมื่อวานนี้ (23 เม.ย. 68) เจ้าหน้าที่สามารถพบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมได้ 1 ร่าง และยังคงมีอีก 5 รายงานการพบตำแหน่งที่บริเวณบันไดหนีไฟโซน D โดยในจุดที่พบร่างเมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่พบแผ่นยิปซั่ม ซึ่งตามข้อมูลการก่อสร้างคือวัสดุจากชั้น 6 ของอาคาร สตง. และยังพบท่อระบบหล่อความเย็น ซึ่งตามข้อมูลตำแหน่งจะห่างจากหน้าช่องบันไดหนีไฟประมาณ 4 เมตร การค้นพบหลักฐานเหล่านี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถระบุตำแหน่งการค้นหาในส่วนของทางหนีไฟได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น และคาดว่าจะพบร่างผู้สูญหายเพิ่มเติมในบริเวณใกล้เคียง

นอกจากนี้ นายสุริยชัย ยังประเมินว่า หากดำเนินการขุดเจาะลงไปในโซน B และ C อีกประมาณ 1-2 เมตร คาดว่าจะถึงระดับชั้นที่ 1 ของอาคาร สตง. ตามการสำรวจของทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ โดยบริเวณชั้นดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะพบผู้ประสบภัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากชั้น 1 เป็นชั้นที่เชื่อมต่อไปยังชั้นใต้ดิน มีความเป็นไปได้ที่ผู้ประสบภัยอาจพยายามวิ่งหนีลงมาแต่ไม่สามารถเอาตัวรอดได้ จึงคาดว่าน่าจะติดค้างอยู่ที่บริเวณชั้น 1 ส่วนในชั้นใต้ดินของอาคาร สตง. ซึ่งตามแบบมีระดับความลึกประมาณ 4 เมตร วางแผนว่าจะใช้วิธีการขุดเจาะจากด้านข้างเข้าไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *