สตง.แจงยิบ! ขั้นตอนแก้แบบผนังปล่องลิฟต์อาคารใหม่ ยันทำตามกฎ ลดงบกว่า 5 แสน อำนาจชี้ขาดอยู่ที่ คตง.
กรุงเทพฯ – ตามที่เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการปรับแก้แบบผนังปล่องลิฟต์ (Core Lift) ของอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ซึ่งเป็นจุดที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกี่ยวข้องกับเหตุอาคารได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมานั้น
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ชี้แจงกระบวนการปรับแก้แบบดังกล่าวอย่างละเอียด โดยระบุว่า การก่อสร้างอาคารแห่งใหม่นี้ สตง. ได้ว่าจ้างผู้รับจ้างออกแบบ (กิจการร่วมค้า บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด) ผู้รับจ้างก่อสร้าง (กิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) และผู้รับจ้างควบคุมงาน (กิจการร่วมค้า PKW)
สตง. ชี้แจงว่า กรณีการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์บางจุดเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง เมื่อผู้รับจ้างก่อสร้างพบว่า แบบงานโครงสร้างขัดแย้งกับแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน โดยเฉพาะขนาดของผนังปล่องลิฟต์บริเวณทางเดิน เมื่อรวมกับวัสดุตกแต่งแล้ว ทำให้ความกว้างของทางเดินไม่เป็นไปตามที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนด สตง. จึงได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายและระเบียบราชการอย่างเคร่งครัด โดยมี 8 ขั้นตอน ดังนี้
- ผู้รับจ้างก่อสร้างซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบแบบ ได้พบข้อขัดแย้งและสอบถามไปยังผู้รับจ้างควบคุมงาน
- ผู้รับจ้างควบคุมงานในฐานะตัวแทน สตง. ทำหนังสือ Request For Information (RFI) หรือหนังสือสอบถามข้อมูล ไปยังผู้รับจ้างออกแบบ
- ผู้รับจ้างออกแบบซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ได้ให้ความเห็นและกำหนดรายละเอียดการปรับแก้ โดยลดความหนาผนังปล่องลิฟต์ด้านทางเดินจาก 0.30 ม. เป็น 0.25 เมตร พร้อมคำนวณและเพิ่มปริมาณเหล็กเสริมให้มั่นคงแข็งแรงตามหลักวิศวกรรม เพื่อให้ทางเดินกว้างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมจัดทำรายการคำนวณและลงนามรับรอง
- ผู้รับจ้างควบคุมงานแจ้งรายละเอียดการปรับแก้ให้ผู้รับจ้างก่อสร้างจัดทำแบบขยายสำหรับการก่อสร้าง ซึ่งแบบดังกล่าวได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องจากทั้งผู้รับจ้างควบคุมงานและผู้รับจ้างออกแบบ โดยวุฒิวิศวกรของผู้รับจ้างควบคุมงานได้ตรวจสอบและลงนามรับรองอีกครั้งตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ
- ผู้รับจ้างก่อสร้างเสนอราคางานที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งมีราคาลดลง 515,195.36 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และขอแก้ไขวงเงินในสัญญา โดยผู้รับจ้างควบคุมงานตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้อง และการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่กระทบต่อระยะเวลาก่อสร้าง
- ผู้รับจ้างควบคุมงานรายงานข้อมูลทั้งหมดต่อคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างก่อสร้างเพื่อพิจารณาให้ความเห็น
- คณะกรรมการตรวจรับพัสดุฯ เสนอความเห็นต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในฐานะผู้ว่าจ้าง เพื่อพิจารณาอนุมัติการแก้ไขสัญญา ตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 97 และ 100 ประกอบระเบียบกระทรวงการคลังฯ ข้อ 165
- ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโดยไม่เพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพัน ตามระเบียบ คตง. ว่าด้วยการงบประมาณ พ.ศ. 2564 ข้อ 20 (1) ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการอนุมัติก่อนที่คู่สัญญาจะลงนามแก้ไขสัญญาและนำแบบที่แก้ไขแล้วมาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา
สตง. ยืนยันว่า กระบวนการทั้งหมดเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยอำนาจตัดสินใจอนุมัติการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในสัญญาจ้างก่อสร้างซึ่งไม่มีการเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันนั้น อยู่ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตามที่ระเบียบกำหนด