สสว. ปลื้ม ‘SME ปัง ตังได้คืน’ 2 ปี สร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 6 พันล้านบาท ดันสู่ Green & Digital ปี 68
กรุงเทพฯ – สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยความสำเร็จของโครงการ “SME ปัง ตังได้คืน” ซึ่งมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบการพัฒนาทางธุรกิจกับผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Business Development Service Provider: BDSP) โดยได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 6,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา พร้อมเดินหน้าพัฒนาโครงการและมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับ SMEs ไทยในปี 2568
น.ส.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการ สสว. เปิดเผยว่า โครงการ SME ปัง ตังได้คืน ซึ่งดำเนินงานตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2567 ได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยมจากผู้ประกอบการ SMEs โดยมีผู้ขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 20,388 ราย และมีผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจำนวน 247 ราย
ผลการดำเนินงานที่สำคัญคือการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมจากการเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 6,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีบริการที่ผ่านการพิจารณาเบื้องต้นบนระบบ BDS แล้วถึง 828 บริการ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของ SMEs ไทยที่พร้อมรับการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานในปีนี้ (2567) สสว. ตั้งเป้าที่จะมีผู้ประกอบการ SMEs ยื่นขอรับการช่วยเหลืออุดหนุนบนระบบ BDS เพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 1,500 ราย เพื่อขยายการเข้าถึงมาตรการสนับสนุนให้ครอบคลุมผู้ประกอบการในวงกว้างมากขึ้น
น.ส.ปณิตา กล่าวเพิ่มเติมถึงทิศทางของโครงการในปี 2568 ว่า สสว. จะมุ่งเน้นบริการที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลกและเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบหลัก ได้แก่ บริการที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transformation) บริการที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) และบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย
การส่งเสริมในปีหน้าจะเน้นให้ผู้ประกอบการเข้าถึงบริการด้านการรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานชั้นนำ การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่อให้ SMEs ไทยสามารถสร้างโอกาสและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม สสว. ยอมรับว่าในการดำเนินงานที่ผ่านมาพบปัญหาและอุปสรรคบางประการ เช่น ความยุ่งยากในการจัดทำเอกสารการเบิกจ่าย หรือการจัดทำรายงานผลการพัฒนาที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการเองทั้งหมดผ่านระบบ ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ประกอบการบางราย
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สสว. มีแผนที่จะปรับปรุงพัฒนาระบบ BDS ให้ใช้งานง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงปรับปรุงกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ทั้งการอนุมัติ การทำสัญญา และการเบิกจ่ายเงิน ให้มีความรวดเร็วและเข้าถึงง่าย เพื่อให้มาตรการ BDS สามารถช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นในอนาคต