สสส. จับมือ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ปั้น ‘บรรณารักษ์นักเติมสุข’ ยกระดับห้องสมุดสู่แหล่งเรียนรู้สุขภาวะยุคดิจิทัล

ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ‘ห้องสมุด’ ซึ่งเคยเป็นแหล่งเรียนรู้หลักของคนไทย กำลังเผชิญความท้าทายจากพฤติกรรมการเข้าถึงข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไป การปรับตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ห้องสมุดยังคงเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ผู้คนทุกช่วงวัยและทุกวิถีชีวิต

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ จัดกิจกรรม ‘อบรมพัฒนาศักยภาพบรรณารักษ์นักเติมสุข (ภาวะ) ครั้งที่ 1’ ขึ้น เพื่อนำร่องการพัฒนาศักยภาพบรรณารักษ์ และยกระดับห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี 30 แห่งทั่วประเทศ ให้ทันสมัย พร้อมทั้งเสริมสร้างความสามารถของบรรณารักษ์ในการเป็น ‘ผู้อำนวยการเรียนรู้’ ที่สามารถถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการพลิกโฉมห้องสมุดว่า จากภาพจำเดิมของห้องสมุดที่เน้นแต่หนังสือ สู่แนวคิด ‘ห้องสมุดมีชีวิต’ ที่มีความยืดหยุ่น เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ด้วยการผสานเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ เพื่อให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้อย่างรอบด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสังคม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ สสส. ที่มุ่งยกระดับสุขภาวะของคนไทยอย่างยั่งยืน

“กิจกรรมทั้ง 4 ด้านของ สสส. ที่นำมาเสริมในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะวอล์กอินเข้ามาหรือค้นหาทางออนไลน์ เพราะห้องสมุดมีข้อมูลที่หลากหลาย และเรายังเติมเต็มเรื่องสุขภาวะเข้าไปตามแนวทางของ สสส.” นายเอกราช อธิบาย

ด้าน นายนครินทร์ ภระมรทัต รักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.) เผยว่า ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะของ สสส. มีสื่อและอุปกรณ์ที่หลากหลาย เหมาะกับทุกเพศทุกวัย จึงได้นำต้นทุนเหล่านี้มาพัฒนา ‘Health corner’ ในห้องสมุดประชาชน โดยสามารถปรับเนื้อหาไปตามวาระที่น่าสนใจ เช่น ประเด็นบุหรี่ไฟฟ้า หรือการลดโรค NCDs

สสส. ยังได้อำนวยความสะดวกด้วยเครื่องมือที่บรรณารักษ์นำไปใช้ได้ง่ายและมองเห็นเป็นรูปธรรม เช่น ‘อินโฟกราฟิก’ ที่สามารถดาวน์โหลดและพิมพ์เผยแพร่ได้ หรือ ‘บอร์ดเกม’ ที่ช่วยให้การเรียนรู้ โดยเฉพาะสำหรับเด็กและครอบครัว เป็นเรื่องสนุกและเข้าใจง่าย ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้บรรณารักษ์สามารถถ่ายทอดเนื้อหาสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน

นายนครินทร์ ทิ้งท้ายว่า บรรณารักษ์ไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่ผู้ดูแลความเรียบร้อย แต่เป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ เป้าหมายของการดำเนินงานนำร่องครั้งนี้จึงเป็นการเพิ่มศักยภาพให้บรรณารักษ์สามารถสร้างสรรค์และสื่อสารความรู้ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อเข้าถึงและตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง ในยุคที่การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหนังสืออีกต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *