สสส. ทร. มทร.ธัญบุรี ผนึกกำลังบุก EEC ขยายผลจัดการขยะอินทรีย์ด้วย BSF มุ่งลดฝังกลบ แก้ปัญหามลพิษ

ชลบุรี, 13 พฤษภาคม 2568 – สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กองทัพเรือ (ทร.) สวนต้องก้าว และภาคีเครือข่าย ได้เปิดการดำเนินงานสำคัญด้านการจัดการขยะมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศาสตร์ทหารเรือ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

โครงการนี้มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาระบบการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ทั้งในระดับชุมชนและแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ โดยเน้นแนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชน และการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพในการจัดการขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงทหารดำ (Black Soldier Fly: BSF) ภายใต้สภาพควบคุมสิ่งแวดล้อม

การดำเนินงานดังกล่าวได้ขยายผลมาจากความสำเร็จในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และนำร่องใน 4 พื้นที่ต้นแบบใน 4 ภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ ภาคตะวันออก-จังหวัดชลบุรี (ซึ่งรวมถึงพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC), ภาคใต้-จังหวัดสงขลา, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-จังหวัดขอนแก่น และภาคเหนือ-จังหวัดเชียงใหม่ โดยเลือกพื้นที่ที่มีปริมาณขยะสูงในแต่ละภูมิภาค

พลเรือเอก สุชาติ ธรรมพิทักษ์เวช ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ และประธานกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ กล่าวว่า พลเรือเอกจิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งกองทัพเรือมีส่วนในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โครงการจัดการขยะมูลฝอยด้วย BSF ที่นำร่องในพื้นที่ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการขยะที่บูรณาการความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเป็นระบบ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กองทัพเรือพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งความมั่นคงทางทะเล สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ อาหาร และพลังงาน พร้อมขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมผลักดันโครงการนี้ และพร้อมขยายผลในพื้นที่ EEC และอื่นๆ ต่อไป

นายศรีสุวรรณ ควรขจร ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุน สสส. กล่าวถึงปัญหาขยะมูลฝอยในไทย โดยเฉพาะขยะอินทรีย์ที่มีสัดส่วนสูงและมักถูกนำไปฝังกลบโดยไม่มีการใช้ประโยชน์ ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรและปล่อยก๊าซเรือนกระจก (มีเทน) ที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศ การจัดการขยะอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ BSF จึงเป็นแนวทางสำคัญในการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและการคัดแยกขยะ BSF สามารถย่อยสลายขยะอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รศ.ดร.ปัญญา มินยง สำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เสริมว่า ใน 4 จังหวัดเป้าหมาย สามารถกำจัดขยะอินทรีย์ได้ถึง 1,600 กิโลกรัมต่อวัน และผลิตตัวอ่อน BSF ได้ไม่ต่ำกว่า 400 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งนำไปแปรรูปเป็นโปรตีนสัตว์ทางเลือก ลดต้นทุนอาหารสัตว์ในชุมชน และลดปริมาณขยะอินทรีย์ที่ต้องนำไปฝังกลบได้มากกว่า 10% โครงการยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ประกอบการ และภาคีในกระบวนการจัดการขยะครบวงจร ตั้งแต่คัดแยก นำส่งขยะอินทรีย์มาเลี้ยง BSF และเก็บข้อมูลประเมินผล นอกจากนี้ ยังได้จัดทำคู่มือการเลี้ยง BSF และแนวทางการจัดการขยะครัวเรือนให้หน่วยงานท้องถิ่น เกษตรกร และประชาชนทั่วไปนำไปใช้ได้จริง พร้อมพัฒนาฐานข้อมูลผลกระทบทางชีวภาพเพื่อใช้ติดตามประเมินผลระยะยาวและเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายระดับต่างๆ ต่อไป

ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการบูรณาการความรู้และทรัพยากรจากหลายภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการจัดการขยะอย่างยั่งยืน สร้างต้นแบบที่ดีในพื้นที่ EEC และพร้อมขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ มุ่งหวังให้ประเทศไทยมีการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนจากขยะอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *