สสส. ถอดบทเรียน ‘โมเดลกำแพงแสน’ ต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง จัดการ ‘ยาเสพติด-เหล้า-อุบัติเหตุ’ พลิกฟื้นคุณภาพชีวิตคนรากหญ้า

ปัญหายาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุทางถนน ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะในชุมชนท้องถิ่น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ครอบครัว และเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าอย่างรุนแรง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้นำร่องศึกษาโมเดลความสำเร็จของชุมชนหัวชุกบัว อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งสามารถจัดการกับ 3 ปัจจัยเสี่ยงนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการสานพลังของกลไกสำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ทีมหมออนามัย และภาคประชาชน

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสระพัฒนา อำเภอกำแพงแสน คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. นำโดย นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 ได้ลงพื้นที่ถอดบทเรียนความสำเร็จในการบูรณาการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพครั้งนี้ โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม นายอำเภอกำแพงแสน สมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์

นพ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า ชุมชนหัวชุกบัวมีกลไกการทำงานที่เข้มข้นในทุกมิติ ทั้งยุทธศาสตร์การแก้ปัญหายาเสพติด การบูรณาการระบบบริการสุขภาพเพื่อการจัดการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการขับเคลื่อนลดอุบัติเหตุในชุมชน “หัวใจสำคัญของการทำงานในพื้นที่นี้คือการอาศัยหลักการ ‘พื้นที่เป็นฐาน ชุมชนเป็นศูนย์กลาง’ มีการสานพลังอย่างแท้จริงระหว่างภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนและชุมชน ซึ่งส่งผลให้เกิดการบูรณาการทรัพยากร งบประมาณ และกำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดปัญหาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ลงได้อย่างเห็นผล เกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน”

นพ.สุรเชษฐ์ ยังเปรียบเทียบความสำคัญของฐานรากชุมชนที่เข้มแข็งว่า “เรามีภารกิจเพื่อช่วยสานพลังของภาคชุมชน ทั้งในหมู่บ้าน ครอบครัว ท้องที่ และท้องถิ่น ซึ่งล้วนเป็นคนที่ทำงานกับรากหญ้าจริงๆ ฐานรากชุมชนที่เข้มแข็งเปรียบเสมือนเจดีย์นครปฐมที่มีฐานกว้างใหญ่ จึงมั่นคงแม้มีแผ่นดินไหว สังคมก็เช่นกัน หากฐานรากชุมชนแข็งแรง แม้มีลมแรงจากข้างบนกระทบ สังคมก็ยังคงอยู่ได้”

ด้าน นายนรวีร์ ขันธหิรัญ นายอำเภอกำแพงแสน กล่าวเสริมว่า การขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของประชาชนในอำเภอกำแพงแสนผ่านกลไก พชอ. มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติด อุบัติเหตุทางถนน และโรคไม่ติดต่อ โดยอาศัยการผนึกกำลังทั้งภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อสม. อปพร. และภาคีเครือข่ายในระดับอำเภอ ร่วมกันออกแบบและพัฒนากลไกการทำงานที่ยั่งยืน เครือข่ายหมออนามัยถือเป็นพลังหลักและผู้นำในการเชื่อมประสานและพัฒนากลไกชุมชน ส่งเสริมการจัดการตนเองของชุมชนในการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพได้อย่างยอดเยี่ยม

นายธนาธิป บุญญาคม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสระพัฒนา ได้ให้ข้อมูลเชิงสถิติว่า จากการสำรวจข้อมูลในปี 2567 เฉพาะในตำบลสระพัฒนา พบผู้เสพยาเสพติดสมัครใจเข้ารับการบำบัด 23 คน พบอาการทางจิต 1 คน และมีผู้ป่วยกลุ่มสีแดง (มีอาการทางจิตเวชร่วม) 2 คน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบผู้ดื่มทั้งหมด 357 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน อายุ 35 – 59 ปี (62.5%) โดยแบ่งเป็นกลุ่มดื่มแบบเสี่ยง 183 คน และดื่มแบบมีความเสี่ยงสูง 69 คน ส่วนอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดกับรถจักรยานยนต์ พบผู้บาดเจ็บ 59 คน และเสียชีวิต 2 คน

เรื่องเล่าจากผู้เลิกเหล้า: ชีวิตใหม่หลังออกจากไอซียู

หนึ่งในความสำเร็จที่สร้างแรงบันดาลใจของโครงการคือกรณีของชายหนุ่มวัยทำงานที่สามารถเลิกดื่มเหล้าได้อย่างเด็ดขาด หลังจากประสบปัญหาสุขภาพรุนแรงจนต้องเข้าห้องไอซียู “ตอนติดเหล้า เงินในกระเป๋าแทบไม่มี เพราะไปลงกับขวดหมด ภรรยาก็ด่าประจำ ชีวิตช่วงนั้นมืดมนมาก” เขาเล่าย้อนไปถึงช่วงชีวิตที่มืดมน “จุดเปลี่ยนคือปีที่แล้ว ผมต้องนอนไอซียู 3 คืน หลับไปไม่มีสติเลย เป็นผลจากการดื่มหนัก พ่อแม่ไปนั่งร้องไห้หน้าห้องไอซียู คิดว่าผมไม่รอด พอออกจากโรงพยาบาล ผมก็คิดว่าไม่น่าทำให้คนที่รักเราต้องลำบากเพราะเรา” หลังจากได้รับกำลังใจจากทีมหมออนามัย พ่อแม่ และภรรยา เขาจึงตัดสินใจเลิกดื่มแบบหักดิบทันที

หลังเลิกเหล้า ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด “อย่างแรกคือมีเวลา ผมทำแปลงปลูกผัก เลี้ยงปลา มีเวลาให้ครอบครัว เดี๋ยวนี้ไม่เคยโดนด่า และแม่ก็ไม่ต้องเป็นห่วงผมอีกต่อไป” เขาเล่าด้วยแววตาที่มีความสุข

เส้นทางกลับคืนสู่สังคมของอดีตผู้ค้ายา

อีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าทึ่งคือเรื่องราวของชายผู้เคยติดและค้ายาเสพติด ซึ่งสามารถเอาชนะปัญหาและกลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า “สมัยก่อนยาราคาถูก เมื่อ 20 – 30 ปีที่แล้ว ชุมชนแถวนี้เป็นชุมชนที่ค้ายา ก็เลยมีการติด มีการขาย ช่วงที่ติดและค้ายา ชีวิตแย่มาก สังคมก็ไม่ให้การยอมรับ ครอบครัวก็แตกแยก เศรษฐกิจก็แย่ เงินก็ไม่มี” จุดเปลี่ยนสำคัญมาจากลูกสาวคนที่ 2 ที่สอบติดพยาบาล “ลูกบอกว่า ‘ป๊าเลิกนะ’ ทำให้มีแรงบันดาลใจให้เลิกทั้งบุหรี่ ทั้งยา ทุกอย่าง”

การเข้าร่วมโครงการบำบัดฟื้นฟูที่จัดโดยหน่วยงานรัฐและเครือข่ายชุมชน ช่วยให้เขาสามารถเลิกยาได้สำเร็จ “มีการอบรมทางด้านจิตใจ ด้านร่างกาย ฟื้นฟูหลายอย่าง ประกอบกับแรงบันดาลใจของเรา เลยทำให้หยุดได้ในที่สุด” ปัจจุบันชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง “ดีขึ้นมาก มีกิน มีใช้ ครอบครัวรักใคร่กันดี ได้สังคมกลับมา เพื่อนฝูงที่ห่างหายกันไปก็กลับมา”

นายสุวัจชัย เกียรติสกุลทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระพัฒนา เผยถึงผลจากการใช้โมเดล “ชุมชนล้อมรักษ์” ในพื้นที่ว่า ทำให้ผู้ป่วยยาเสพติดได้รับการดูแลและคืนกลับสู่สังคมได้ 6 คน หยุดเสพได้เด็ดขาด 3 คน และลดการใช้ยาลงได้ 1 คน ที่สำคัญคือสามารถขยายผลจนเกิดครอบครัวล้อมรักษ์และครัวเรือนสีขาวถึง 246 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีการผลักดันกิจกรรมส่งเสริมการเล่นกีฬาในชุมชน จัดพื้นที่เล่นกีฬา และติดตั้งไฟให้สว่างเพื่อความปลอดภัย ลดการมั่วสุมยาเสพติดในพื้นที่เสี่ยง

สสส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โมเดลความสำเร็จในการบูรณาการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพในชุมชนหัวชุกบัว อำเภอกำแพงแสนนี้ จะสามารถเป็นต้นแบบและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พลิกฟื้นชีวิต และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับรากหญ้าได้อย่างยั่งยืนต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *