สภานายกพิเศษฯ ประชุมพิจารณามติแพทยสภา ปมลงโทษ 3 แพทย์คดีชั้น 14 รมว.สธ.เผยข้อมูลยังไม่ครบ เร่งขอจาก 4 คณะกรรมการ

สภานายกพิเศษฯ ประชุมพิจารณามติแพทยสภา ปมลงโทษ 3 แพทย์คดีชั้น 14 รมว.สธ.เผยข้อมูลยังไม่ครบ เร่งขอจาก 4 คณะกรรมการ

กรุงเทพฯ – เมื่อเวลา 13.35 น. วันที่ 20 พฤษภาคม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คณะกรรมการเสนอความเห็นสภานายกพิเศษ เพื่อพิจารณาตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ได้จัดการประชุมขึ้น โดยมีนายชัยนันท์ งามขจรกุลกิจ ประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการอีก 9 ท่าน เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงครบองค์ประชุม

องค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย นายชัยนันท์ งามขจรกุลกิจ ประธาน, นายชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ ที่ปรึกษา, นายพงษ์ศักดิ์ แก้วกมล กรรมการ, นายพิทักษ์ ฉันทประยูร กรรมการ, นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร กรรมการ, นายนรินท์พงศ์ จินาภักข์ กรรมการ, นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ กรรมการ, นายวชิระ ปากดีสี กรรมการและเลขานุการคนที่ 1, นายวิทยา พลสีลา กรรมการและเลขานุการคนที่ 2, และนายปิยะวัฒน์ ศิลปรัศมี กรรมการและเลขานุการคนที่ 3

การประชุมครั้งนี้มีเอกสารสำคัญสำหรับการพิจารณาจัดเตรียมไว้ให้กรรมการทุกคน เช่น หนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรม, เอกสารการพิจารณาของแพทยสภา (เพิ่มเติม), กฎหมายประกอบการพิจารณา และหนังสือความเห็นของคณะอนุกรรมการสอบสวน ชุดเฉพาะกิจ เป็นต้น

ก่อนหน้าการประชุม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางเข้ามายังอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนที่มารอติดตามผลการประชุม โดยกล่าวว่า ตนเองไม่ได้เข้าร่วมประชุม แต่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ 10 ท่าน เพื่อมาช่วยในการพิจารณา เนื่องจากเอกสารที่เกี่ยวข้องมีจำนวนมาก

นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้น พบว่าเอกสารและข้อมูลที่ส่งมาให้คณะกรรมการชุดนี้พิจารณายังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ การพิจารณาครั้งนี้จำเป็นต้องขอข้อมูลประกอบเพิ่มเติมจากคณะกรรมการของแพทยสภา ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ชุดเฉพาะกิจ (ชุดรับเรื่องร้องเรียน), คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ (มีกรรมการ 5 คน), คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง (รับเรื่องจากชุดที่ 2) และคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ (มีกรรมการ 70 คน)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า กำลังประสานงานเพื่อขอทราบรายละเอียดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการแต่ละชุดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพิจารณามีเนื้อหาสัมพันธ์กัน แต่ขณะนี้ข้อมูลที่ขอไปยังไม่ครบ ต้องรอเอกสารเหล่านั้นก่อนเพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะยับยั้งมติของแพทยสภาหรือไม่

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า เมื่อข้อมูลยังไม่ครบ การประชุมจะสามารถพิจารณาได้หรือไม่ นายสมศักดิ์ ตอบว่า ตนไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการฯ ซึ่งตนเชิญมาเป็นที่ปรึกษาและให้ความช่วยเหลือ จึงควรให้อิสระในการทำงานแก่กรรมการแต่ละท่าน อย่างไรก็ตาม ยังมีเวลาอยู่ในการพิจารณา

นายสมศักดิ์ ย้ำถึงกรอบเวลาในการพิจารณาว่า ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือมติแพทยสภา คือวันที่ 16 พฤษภาคม ซึ่งหากรวมวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ กำหนดเส้นตายจะอยู่ประมาณวันที่ 31 พฤษภาคม ดังนั้น คณะกรรมการฯ ควรพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28-29 พฤษภาคมนี้

ส่วนประเด็นความกดดันจากสังคมที่มองว่าสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภาจะใช้อำนาจยับยั้งมติ (วีโต้) แน่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คนอื่นน่าจะกดดันมากกว่าตน ตนไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในกระบวนการพิจารณา แต่ได้ตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาช่วยดู ซึ่งทำให้ตนไม่รู้สึกกดดัน

เมื่อถามถึงนายกรัฐมนตรีว่ามีการกำชับหรือพูดคุยเรื่องนี้หรือไม่ นายสมศักดิ์ ตอบว่า ไม่มีพูดถึงเลย เพราะนายกรัฐมนตรีทราบว่าถ้าถามตน ตนคงไม่ทราบรายละเอียดในส่วนของการพิจารณา แต่ตนรับทราบโครงสร้างการทำงานตามกรอบอำนาจหน้าที่ของตน

ปิดท้ายด้วยคำถามว่า ในการประชุมวันนี้ ได้ข้อมูลจากคณะกรรมการของแพทยสภาครบถ้วนหรือไม่ นายสมศักดิ์ ยืนยันว่า ยังไม่ครบถ้วน และต้องรอให้คณะกรรมการเสนอความเห็นสภานายกพิเศษฯ พิจารณาข้อมูลที่มีอยู่ก่อน พร้อมเน้นย้ำว่าจะใช้มาตรา 25 เป็นหลักในการพิจารณา และจะไม่พยายามล่วงรู้ข้อมูลเกินขอบเขตของกฎหมาย เพราะหากการพิจารณาไม่ครบถ้วน อาจมีผู้ร้องเรียนและนำไปสู่ปัญหาการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *