สนค.ผนึกกำลังหน่วยงานสุขภาพ ถอดบทเรียนโควิด-19 วางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ พร้อมรับมือโรคระบาดในอนาคต
กรุงเทพฯ – แม้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่บทเรียนครั้งใหญ่ที่ประเทศไทยได้รับคือความท้าทายในการบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในส่วนของบุคลากรเฝ้าระวัง ควบคุมโรคติดต่อ และเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานพัฒนานโยบายกำลังคนด้านสุขภาพ (สนค.) ภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก จึงได้จัดการประชุมวิชาการในหัวข้อ “ก้าวข้ามวิกฤติ : นโยบายควบคุมโรคสู่การปฏิบัติจริง” ขึ้น
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเปิดเวทีให้หน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านการควบคุมโรค ทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่น ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ที่ได้รับจากสถานการณ์จริง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเชิงนโยบาย เตรียมความพร้อมของระบบสุขภาพไทยสำหรับสถานการณ์โรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นพ.โสภณ เอื่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความพร้อมในการรับมือกับการระบาดของโรคในอนาคตว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเตรียมการในหลายมิติ ทั้งด้านกำลังคน โดยการอบรม ฝึกซ้อม และการระดมทรัพยากรที่จำเป็นในสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาฐานข้อมูลกำลังคน เพื่อให้สามารถระดมบุคลากรเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีความต้องการเพิ่ม และสามารถให้บริการประชาชนได้มากขึ้น แม้จะมีจำนวนบุคลากรเท่าเดิมก็ตาม
ด้าน ดร.นพ.ฑิณกร โนรี หัวหน้าโครงการ “การวางแผนความต้องการกำลังคนและการบริหารจัดการทีมงานกำลังคนด้านสุขภาพด้านการเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อในการรองรับสถานการณ์การระบาดโควิค-19” ได้ให้ข้อมูลจากบทเรียนวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดแนวคิดและมาตรการในการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในแต่ละพื้นที่ เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉิน ขณะเดียวกันก็ยังสามารถจัดการให้มีอัตรากำลังคนเพียงพอต่อการปฏิบัติงานและให้บริการสุขภาพตามปกติได้ด้วย
มาตรการที่ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มกำลังคนในช่วงวิกฤต ได้แก่ การให้บุคลากรทำงานล่วงเวลา การดึงกำลังคนจากพื้นที่ที่มีการระบาดน้อยกว่าเข้ามาช่วยงาน การจ้างงานชั่วคราว การจัดระบบการทำงานเป็นทีมและการทำงานทดแทนกัน รวมถึงการขยายขอบเขตงานไปสู่กำลังคนที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์โดยตรง และที่สำคัญคือการระดมพลังจากภาคชุมชน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคีเครือข่ายนอกระบบสุขภาพ เพื่อเข้ามาเสริมกำลัง อีกทั้งยังมีการสร้างแรงจูงใจด้วยค่าตอบแทนพิเศษ ค่าเสี่ยงภัย และค่าทำงานนอกเวลา
ดร.นพ.ฑิณกร กล่าวย้ำว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการเชื่อมโยงงานวิจัยและบทเรียนจากประสบการณ์จริงของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เข้าสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ทั้งในระดับกระทรวงและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนความต้องการและการบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพสำหรับการควบคุมโรคระบาดของประเทศในอนาคต
สำหรับ สนค. ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2551 มีบทบาทสำคัญในการศึกษาวิจัย การจัดทำระบบฐานข้อมูล และการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกำลังคนด้านสุขภาพ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ เกิดการกระจายตัวของบุคลากรอย่างเท่าเทียม และตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนได้อย่างเหมาะสม