มูลนิธิสืบฯ ย้ำจุดยืนค้าน “กระเช้าภูกระดึง” หวั่นปูทางทำลายระบบนิเวศสู่การเพิกถอนอุทยานฯ

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย อย่างหนัก หลังสำนักงบประมาณอนุมัติงบประมาณออกแบบ ชี้การพัฒนาดังกล่าวสุ่มเสี่ยงจะไม่จบแค่ตัวกระเช้า แต่จะนำไปสู่การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รบกวนระบบนิเวศสำคัญของอุทยานฯ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกอาเซียนและเป็นแหล่งอาศัยของพืชสัตว์หายาก หวั่นท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การเพิกถอนสถานะอุทยานแห่งชาติเพื่อแลกกับการพัฒนา

วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 สืบเนื่องจากกรณีที่สำนักงบประมาณได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 25.7 ล้านบาท ให้กับคณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เพื่อใช้ในการดำเนินการโครงการออกแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นสู่ยอดภูกระดึง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงระดับประเทศในจังหวัดเลย

ล่าสุด มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ออกมาเคลื่อนไหวและออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนคัดค้านโครงการดังกล่าวอย่างชัดเจน โดยแถลงการณ์ฉบับนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดในการให้บริการเพิ่มเติมบนยอดภูกระดึง หากมีการสร้างกระเช้าไฟฟ้าสำเร็จ อาทิ แนวคิดการนำรถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบคล้ายรถกอล์ฟหรือรถรางไฟฟ้าขนาดเล็กมาให้บริการนักท่องเที่ยวบนพื้นที่ด้านบน โดยอาจมีการปรับปรุงเส้นทางด้วยคอนกรีตหรือดินเพื่อให้รถวิ่งได้ แม้จะระบุว่าไม่ใช่ถนนถาวรและจะพยายามให้กลมกลืนกับธรรมชาติที่สุดก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงแนวคิดการท่องเที่ยวในอนาคตที่อาจคล้ายกับซาฟารีในโซนที่มีช้างป่าออกมา คือให้นักท่องเที่ยวขึ้นรถไปเที่ยว

จากบทสัมภาษณ์ดังกล่าว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มองว่า ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่แนวคิด แต่กลับเป็นการตอกย้ำความกังวลที่นักอนุรักษ์เป็นห่วงมาโดยตลอดว่า หากมีการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจริง โครงการนี้จะไม่จบเพียงแค่การสร้างกระเช้า แต่จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ตามมาอย่างแน่นอน เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจุดท่องเที่ยวแต่ละจุดบนภูกระดึงมีระยะทางห่างไกลกันพอสมควร

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้นจากการมีกระเช้าไฟฟ้าว่า จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งบนภูกระดึงและพื้นที่โดยรอบได้นานเพียงใด และเมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลจากความสะดวกสบายในการเดินทางขึ้นลง การรบกวนระบบนิเวศในพื้นที่จะต้องเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะมีความสามารถในการบริหารจัดการเพื่อจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวหรือควบคุมกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศอันเปราะบางได้จริงหรือไม่

นอกจากประเด็นผลกระทบทางตรงจากการพัฒนาแล้ว มูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังเน้นย้ำถึงสถานะความสำคัญของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ซึ่งนอกจากจะเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่สองของประเทศไทยแล้ว ในปี พ.ศ. 2566 ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น อุทยานมรดกอาเซียน (ASEAN Heritage Parks) อีกด้วย เนื่องจากพื้นที่มากกว่าร้อยละ 98 ปกคลุมไปด้วยป่าตามธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์หายากและพืชถิ่นเดียวหลายชนิด เช่น หญ้าดอกลำโพง, ผักชีภูกระดึง, กุหลาบขาว, กุหลาบแดง เป็นต้น รวมถึงเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองที่ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด อาทิ เลียงผา, ลิ่นชวา, เต่าเหลือง, ค่างแว่นถิ่นเหนือ, ชะนีมือขาว ความพิเศษอีกประการคือลักษณะทางธรณีวิทยาของภูกระดึงที่เป็นภูเขาหินทรายยอดตัดที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เพียงแห่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีความกังวลอย่างยิ่งว่า การผลักดันโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เช่นกระเช้าไฟฟ้า โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพความอ่อนไหวของพื้นที่ระบบนิเวศและสัตว์ป่าเป็นหลัก อาจนำไปสู่การลดทอนคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่อุทยานฯ ลงอย่างมหาศาล จนในที่สุดอาจไม่เหมาะสมที่จะคงสถานะเป็นอุทยานแห่งชาติ และอาจนำไปสู่การพิจารณาเพิกถอนพื้นที่บางส่วนหรือทั้งหมดของอุทยานฯ เพื่อรองรับเหตุผลด้านการพัฒนาในอนาคต

ด้วยเหตุผลและข้อกังวลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงขอยืนยันจุดยืนในการคัดค้านโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เพื่อเป็นการธำรงรักษาไว้ซึ่งคุณค่าและความสมบูรณ์ของการเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *