บก.ปอศ.รวบ รปภ. สวมรอยนั่งกรรมการบริษัทค้ากระดาษ ออกใบกำกับภาษีปลอม เสียหายรัฐกว่า 493 ล้าน อ้างถูกหลอกใช้บัตรประชาชน
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เข้าจับกุมอดีต รปภ. ซึ่งถูกกล่าวหาว่าสวมรอยเป็นกรรมการบริษัทค้ากระดาษที่ปิดกิจการไปแล้ว แต่กลับออกใบกำกับภาษีปลอมนับพันฉบับ สร้างความเสียหายให้แก่รัฐกว่า 493 ล้านบาท โดยผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ และอ้างว่าถูกหลอกให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการสมัครงาน
วันที่ 25 เมษายน 2568 พลตำรวจตรี ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผบก.ปอศ.) สั่งการให้ พันตำรวจเอก นฤพนธ์ กรุณา ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผกก.2 บก.ปอศ.) และ พันตำรวจตรี นพคุณ ทัศนมาลัย สารวัตร กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (สว.กก.2 บก.ปอศ.) นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม นายเอกพล (สงวนนามสกุล) อายุ 47 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดสมุทรสาคร ในข้อหา “ร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออก” โดยจับกุมได้ที่บริเวณชุมชนริมคลองลาดพร้าว 80 แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการตรวจสอบของกรมสรรพากร ซึ่งพบความผิดปกติของบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตกระดาษลอนลูกฟูกและรับซื้อขายเศษกระดาษรีไซเคิลแห่งหนึ่ง โดยบริษัทดังกล่าวได้ปิดกิจการไปตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2557 แต่กลับมีการออกใบกำกับภาษีเรื่อยมาจนถึงเดือนธันวาคม 2558 ทางกรมสรรพากรจึงได้เชิญ นายเอกพล ซึ่งมีชื่อเป็นกรรมการบริษัทฯ เข้ามาให้ข้อมูลและชี้แจง แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดเข้าพบ และไม่มีการนำส่งเอกสารหลักฐานประกอบกิจการใดๆ
จากการตรวจสอบเอกสารและพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่พบว่า บริษัทดังกล่าวนอกจากจะไม่มีการประกอบกิจการจริงแล้ว ยังได้นำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบของกลุ่มผู้ค้าของเก่ามาใช้เป็นภาษีซื้อ และที่สำคัญคือ แม้จะไม่มีสินค้าเพื่อขาย แต่บริษัทกลับออกใบกำกับภาษีขาย ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงเดือนธันวาคม 2557 ให้แก่นิติบุคคลถึง 128 ราย รวมจำนวนใบกำกับภาษีทั้งสิ้น 4,441 ฉบับ ซึ่งถือเป็นการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย
การกระทำดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบภาษีของรัฐอย่างมหาศาล โดยจากการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม พบว่าเป็นเงินสูงถึงกว่า 493 ล้านบาท เจ้าหน้าที่เชื่อว่าบริษัทและกรรมการมีความผิดตามพระราชบัญญัติประมวลรัษฎากร จึงได้ออกหมายเรียกให้กรรมการมาเข้ารับทราบข้อกล่าวหา แต่ก็ยังคงไม่มีผู้ใดมาปรากฏตัว พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติศาลออกหมายจับ
ภายหลังจากที่ศาลได้อนุมัติหมายจับแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้ทำการสืบสวนติดตามตัว นายเอกพล ผู้ต้องหา จนทราบว่าได้หลบหนีมาพักอาศัยอยู่ในชุมชนริมคลองลาดพร้าว 80 จึงนำกำลังเข้าทำการจับกุมตัวไว้ได้
ในชั้นสอบสวน นายเอกพล ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าตนเองไม่รู้จักบริษัทดังกล่าว และไม่เคยเป็นกรรมการบริษัทใดๆ มาก่อน เดิมทีตนพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี แต่ไม่มีงานทำ จึงเดินทางเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ต่อมาได้พบกับชายคนหนึ่งที่ตนจำชื่อสกุลจริงไม่ได้ ชายคนดังกล่าวได้เสนอว่าจะหางานให้ทำ และให้ตนกรอกเอกสารเพื่อสมัครงานตำแหน่ง รปภ. พร้อมทั้งขอเอาบัตรประจำตัวประชาชนของตนไปเก็บไว้ โดยอ้างว่าจะนำไปใช้ประกอบการสมัครงาน ตนไม่ทราบมาก่อนว่าจะถูกนำบัตรประจำตัวประชาชนไปใช้กระทำความผิดในลักษณะนี้
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ควบคุมตัว นายเอกพล ส่งพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป