ก.ล.ต. เปิดผลงาน 4 เดือนแรก กวาดล้างบัญชีม้าดิจิทัล 2.7 หมื่นบัญชี มูลค่า 169 ลบ. พร้อมเร่งจัดการหลอกลงทุน ด้าน Thai ESG โตต่อเนื่อง

กรุงเทพฯ – สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 ในการจัดการปัญหาบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล การปราบปรามการหลอกลงทุน และความคืบหน้าของกองทุน Thai ESG

นายเอนก อยู่เย็น รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า ภายหลัง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ และ พ.ร.ก. อาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ฉบับแก้ไข มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2568 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ให้ความร่วมมือระงับบัญชีต้องสงสัยว่าเป็นบัญชีม้า ตามข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) แล้วกว่า 27,000 บัญชี โดยมีมูลค่าทรัพย์สินรวมที่เกี่ยวข้องมากกว่า 169.29 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 18 เมษายน) นอกจากนี้ยังได้มีการปิดช่องทางการเข้าถึงแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจโดยผิดกฎหมาย

สำหรับการดำเนินงานของ “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ก.ล.ต. ได้รับแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการหลอกลงทุนรวมทั้งสิ้น 2,735 ครั้ง ผ่านช่องทางรับแจ้ง 6 ช่องทางหลัก (เว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th/scamalert, โทรศัพท์ 1207 กด 22, อีเมล scamalert@sec.or.th, เดินทางมาที่สำนักงาน, ระบบบริการสนทนา และไปรษณีย์)

โดยมีบัญชีโซเชียลมีเดียที่เข้าข่ายหลอกลงทุนจำนวน 1,849 บัญชี ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ประสานงานกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เพื่อดำเนินการปิดกั้น โดยสามารถปิดกั้นได้สำเร็จถึง 99.94% ภายในระยะเวลา 7 นาที ถึง 48 ชั่วโมง พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้ให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในเรื่องการหลอกลงทุนไปแล้ว 886 ครั้ง

ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อพนักงานสอบสวน (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอศ. และดีเอสไอ) รวม 7 คดี มีผู้กระทำผิด 26 ราย แยกเป็นฐานความผิดสร้างราคา 4 คดี (14 ราย), แพร่ข่าว/ข้อความเท็จ 1 คดี (1 ราย) และประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต 2 คดี (11 ราย)

ขณะที่การดำเนินการตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ได้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดรวม 8 คดี มีผู้กระทำผิด 42 ราย ในฐานความผิดแพร่ข่าว/ข้อความเท็จ (1 คดี, 2 ราย), สร้างราคา (4 คดี, 26 ราย), ใช้ข้อมูลภายใน/การเปิดเผยข้อมูลภายใน (2 คดี, 12 ราย) และแสดงข้อความอันเป็นเท็จ/ปกปิดข้อความจริง (1 คดี, 2 ราย)

สำหรับกรณีสร้างราคา 4 คดี ประกอบด้วย ผู้กระทำความผิดในหลักทรัพย์ RPC (2 ราย), ABM, F&D, TVDH-W3, AMR (1 ราย), MAX, EIC, NEWS, NEWS-W5 (13 ราย) และ TCC (10 ราย)

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน มีการตกลงทำบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด รวม 4 คดี ผู้กระทำผิด 14 ราย โดยมีค่าปรับทางแพ่งรวม 14.14 ล้านบาท และชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ 10.20 ล้านบาท ซึ่งเงินทั้งหมดได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินเรียบร้อยแล้ว

นายเอนก ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ณ สิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 17.42% จากสิ้นปี 2567 มาอยู่ที่ 34,745 ล้านบาท สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้เติบโตสูงถึง 31.42% ขณะที่กองทุนที่เน้นตราสารทุนเพิ่มขึ้น 1.94%

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงหลักเกณฑ์ Thai ESG เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนในโทเคนดิจิทัลกลุ่มความยั่งยืน รวมถึงเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้ผู้ประเมิน ESG และการบริหารสภาพคล่อง โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2568

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *