ชง พ.ร.บ. SEC เข้า ครม. พฤษภา 68 เร่งเครื่อง ‘แลนด์บริดจ์’ เปิดประมูล 69 เฟสแรก 5 แสนล้านบาท

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ ว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ….. (พ.ร.บ. SEC) ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่จะขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์ให้เป็นรูปธรรม โดยขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ซึ่ง สนข. ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว

นางมนพร กล่าวว่า หลังจากนี้ สนข. จะนำข้อคิดเห็นทั้งหมด มาประมวลและปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. SEC ให้มีความเหมาะสม ก่อนที่จะมีการประชุมสรุปอีกครั้งที่กรุงเทพฯ และคาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายใน เดือนพฤษภาคม 2568 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา โดยคาดว่าจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมสมัยสามัญ ที่จะเปิดในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 และผ่านวาระต่างๆ ไปจนถึงการพิจารณาของวุฒิสภา คาดว่าจะแล้วเสร็จและนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อจัดตั้งสำนักงาน SEC และคณะกรรมการ SEC ได้ภายในปลายปี 2568

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อถึงกรอบการดำเนินงานโครงการแลนด์บริดจ์อย่างชัดเจน โดยคาดว่าจะสามารถร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนร่วมลงทุน (RFP) แล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2569 และดำเนินการคัดเลือกผู้ลงทุนได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2569 จากนั้นจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน และเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการในช่วงไตรมาส 2 ปี 2569 ควบคู่ไปกับการลงนามสัญญากับภาคเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก โดยคาดการณ์ว่าการก่อสร้างในระยะที่ 1 จะสามารถเริ่มต้นได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2569 และแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2573

สำหรับกรณีผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อโครงการแลนด์บริดจ์ แต่กลับจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้โครงการมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งทางการค้าจะผลักดันให้ผู้ประกอบการและสายการเดินเรือต่างๆ มองหาเส้นทางการขนส่งที่มีประสิทธิภาพและสามารถลดต้นทุนได้ ซึ่งประเทศไทยและโครงการแลนด์บริดจ์มีศักยภาพที่จะตอบโจทย์ดังกล่าวได้

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวเสริมว่า ร่าง พ.ร.บ. SEC มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนโครงการ โดยจะเป็นการรวมศูนย์อำนาจการอนุมัติและการอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจากหน่วยงานราชการต่างๆ มาไว้ในคณะกรรมการ SEC เพื่ออำนวยความสะดวกและดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

นายปัญญา กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทยได้ประมาณ 3 วัน เมื่อเทียบกับการเดินเรืออ้อมผ่านช่องแคบมะละกา และยังสามารถลดต้นทุนการขนส่งได้ถึง 15% ซึ่งจะส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าโดยรวม

สำหรับการเปิดประมูลโครงการ จะดำเนินการในรูปแบบแพ็กเกจเดียว ครอบคลุมการพัฒนาทั้ง 4 ระยะ โดยในระยะแรกคาดว่าจะมีการลงทุนประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งรวมถึงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก มอเตอร์เวย์ และระบบรถไฟ คาดว่านักลงทุนหลายรายจะเข้าร่วมประมูลในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) เพื่อแบ่งเบาภาระการลงทุน เนื่องจากโครงการมีขนาดใหญ่และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จพร้อมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่ผ่านมามีนักลงทุนจากหลายประเทศแสดงความสนใจ อาทิ ดูไบ เวิล์ด พอร์ต, จีน, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และออสเตรเลีย

นายปัญญา ยังกล่าวถึงผลการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ. SEC ว่า มีประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 9,000 ราย โดยส่วนใหญ่กว่า 8,000 รายเห็นด้วยกับการพัฒนาโครงการและร่างกฎหมายดังกล่าว ส่วนข้อเสนอแนะเพิ่มเติมประมาณ 700 รายการ เช่น ข้อกังวลเรื่องการจ้างงานและการชดเชยผลกระทบ สนข. ได้มีการศึกษาและเตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว

ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการคือการออกแบบด้านสิ่งแวดล้อมที่ใกล้แล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่าง พ.ร.บ. SEC ควบคู่ไปกับการเตรียมเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะสามารถเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอได้ในปีหน้า (ปี 2568) และได้ผู้ชนะการประมูลในปี 2569

นายปัญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการนี้เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถร่วมทุนกับนักลงทุนไทยได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสัดส่วนการลงทุน ส่วนสำหรับกระแสความกังวลเรื่องการ “ขายชาติ” นั้น ทาง สนข. ยืนยันว่า การเวนคืนที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการจะดำเนินการโดยรัฐบาล และที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐและประชาชนชาวไทย ไม่มีการยกที่ดินให้แก่ต่างชาติ เพียงแต่เปิดให้เอกชนต่างชาติเข้ามาลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และพื้นที่ที่เหลือจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนกลุ่มอื่นๆ เข้ามาตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ 4 จังหวัด ซึ่งจะเน้นการต่อยอดอุตสาหกรรมจากสินค้าเกษตรและประมงในพื้นที่ เพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งออก สร้างการจ้างงานให้กับคนไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *