กรมประมง ติวเข้มเกษตรกรอันดามัน! ดัน ‘ม้าน้ำ’ สู่สัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง สร้างรายได้ใหม่ทดแทนการจับจากธรรมชาติ

สตูล – กรมประมงเร่งผลักดัน ‘ม้าน้ำ’ สู่สัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง จัดโครงการฝึกอบรมเข้มข้นให้เกษตรกรใน 5 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน หวังสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ สร้างรายได้ที่มั่นคง ลดการพึ่งพาการจับจากธรรมชาติ และตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การเพาะเลี้ยงม้าน้ำเพื่อเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง” ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล จังหวัดสตูล ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2568 ว่า ม้าน้ำ หรือ Sea horse เป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างมาก ด้วยลักษณะและพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้เป็นที่ต้องการสูงทั้งในและต่างประเทศ โดยนิยมนำไปเลี้ยงเป็นสัตว์น้ำสวยงาม ใช้บริโภคโดยมีความเชื่อว่าเป็นยาบำรุงร่างกาย รวมถึงนำมาทำเป็นสินค้าที่ระลึกและเครื่องประดับ เช่น เข็มกลัด พวงกุญแจ

อย่างไรก็ตาม ม้าน้ำถูกจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญาไซเตส (CITES) ซึ่งหมายความว่า สามารถทำการค้าได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมปริมาณเพื่อป้องกันการลดลงอย่างรวดเร็วจนใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันม้าน้ำจากธรรมชาติมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการพลอยจับได้จากเครื่องมือประมง ปัญหาสภาพแวดล้อมและแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติที่เสื่อมโทรมลง

ด้วยเหตุนี้ กรมประมงจึงได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีศักยภาพด้านการส่งออก จัดการอบรมหลักสูตรดังกล่าวขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคนิคการเพาะเลี้ยงม้าน้ำให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต และสตูล รวม 40 ราย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงม้าน้ำให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของตลาด และลดการจับจากธรรมชาติลงให้มากที่สุด

การอบรมครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญคือ การผลักดันให้ม้าน้ำเป็นสินค้าสัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง เป็นอาชีพทางเลือกใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง รวมถึงเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าและเพิ่มโอกาสในการส่งออกม้าน้ำไปยังตลาดเป้าหมายหลักที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์

เนื้อหาการฝึกอบรมมีความเข้มข้น ครอบคลุมตั้งแต่หลักการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งปัจจุบันกรมประมงสามารถเพาะเลี้ยงม้าน้ำได้ถึง 3 ชนิด ได้แก่ ม้าน้ำหนาม ม้าน้ำดำ และม้าน้ำสามจุด นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกม้าน้ำ กฎหมายอื่น ๆ ที่จำเป็น ตลอดจนเทคนิคการขนส่งและการตลาดเพื่อการจำหน่ายและส่งออก โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากกรมประมงและภาคเอกชน

กรมประมงเชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพและความมุ่งมั่นของเกษตรกรไทย จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดพัฒนาการเพาะเลี้ยงม้าน้ำในเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่ขยายตัวต่อเนื่อง ลดการพึ่งพาจากธรรมชาติ และยกระดับให้ ‘ม้าน้ำ’ ก้าวขึ้นเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูงทางเลือกใหม่ที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *