สทนช. สั่ง ‘พร่องน้ำเขื่อนใหญ่’ ทั่วประเทศ รับมือฝนหนัก ฤดูฝนเริ่ม 15 พ.ค. นี้ ลุ้นพายุ-ลานีญาปลายปี

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพร่องน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศเป็นการด่วน เตรียมพร้อมรับมือปริมาณฝนที่คาดว่าจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย พร้อมจับตาสถานการณ์น้ำริมแม่น้ำโขงที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง และโอกาสการเกิดพายุจรในช่วงปลายปี หลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 นี้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 6/2568 ว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ทาง สทนช. จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพร่องน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ต่างๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมา

สำหรับแนวโน้มปริมาณฝนในปีนี้ คาดว่าจะใกล้เคียงหรือมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 5-10% โดยในช่วง 3 เดือนแรกของฤดูฝน (พฤษภาคม – กรกฎาคม) มีแนวโน้มปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2568 ที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ต้องเฝ้าระวังพื้นที่ภาคใต้ริมฝั่งอันดามัน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือตอนล่าง

จากนั้นปริมาณฝนจะเบาลง ก่อนจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2568 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย บริเวณริมแม่น้ำแม่สาย ซึ่งอยู่ระหว่างการขุดลอกลำน้ำ คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ จึงต้องเฝ้าระวังและเตรียมป้องกันเป็นพิเศษ

เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงว่า สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat หรือ MRCS) ได้ประเมินว่าบางพื้นที่มีแนวโน้มเสี่ยงเกิดน้ำล้นตลิ่งได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ฝนที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ริมแม่น้ำโขง

ในส่วนของประเทศไทย ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย สทนช. ได้ประสานงานกับ MRCS และหารือทวิภาคีด้านการบริหารจัดการน้ำกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมีข้อสรุปสำคัญคือ จะมีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (Ad Hoc Flood Task Team) ร่วมกันระหว่างไทย สปป.ลาว และ MRC เพื่อสนับสนุนข้อมูลและเตรียมรับมือพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง รวมถึงการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำในรูปแบบลุ่มน้ำ เนื่องจาก สปป.ลาว มีเขื่อนจำนวนมากในลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง การวางแผนเร่งพร่องและระบายน้ำล่วงหน้าจะช่วยบรรเทาผลกระทบน้ำล้นตลิ่งได้

สทนช. ยังได้ติดตามแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีผลการระบายน้อยกว่าแผน เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างเก็บน้ำน้ำพุง อ่างเก็บน้ำน้ำอูน เป็นต้น และได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพร่องน้ำให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำฝนในช่วงปลายปี

เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าประเทศไทยอาจมีพายุจรเข้ามา 1-2 ลูก ในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม และแม้ปัจจุบันปรากฏการณ์เอ็นโซ่ (ENSO) จะยังอยู่ในสภาวะเป็นกลาง แต่ในช่วงปลายปีประมาณเดือนตุลาคม ปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) อาจกลับมา ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้น จึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบและรัดกุม

เลขาธิการ สทนช. ย้ำว่าได้แจ้งให้ทุกหน่วยงาน ทั้งกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และจังหวัดต่างๆ รับทราบการคาดการณ์ดังกล่าว เพื่อร่วมกันวางแผนบริหารจัดการน้ำ โดยคาดว่าสถานการณ์แม่น้ำโขงจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงต้นเดือนมิถุนายน และจะประสานงานกับจังหวัดริมแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งสร้างการรับรู้และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำแก่ประชาชน เพื่อให้พร้อมรับมือกับฤดูฝนปีนี้และบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *