รมว.เกษตรฯ เผย ‘เลื่อนกรีดยาง 1 เดือน’ ดันราคายางพุ่งกระฉูด ชี้ลดซัพพลาย 3 แสนตัน สร้างมูลค่าหมื่นล้าน
รมว.เกษตรฯ เผย ‘เลื่อนกรีดยาง 1 เดือน’ ดันราคายางพุ่งกระฉูด ชี้ลดซัพพลาย 3 แสนตัน สร้างมูลค่าหมื่นล้าน
กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ราคายางพาราในปัจจุบันว่า กำลังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกชนิด โดย ณ วันที่ 2 พฤษภาคม ราคายางมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ:
- ยางแผ่นรมควันชั้น 3 (ไม่อัดก้อน) ราคาปรับขึ้นมาอยู่ที่ 70 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)
- ยางแผ่นดิบคุณภาพดี (ความชื้นไม่เกิน 3%) ราคาปรับขึ้นมาอยู่ที่ 68 บาทต่อกิโลกรัม
- น้ำยางสด ราคาปรับขึ้นมาอยู่ที่ 58.75 บาทต่อกิโลกรัม
- ยางก้อนถ้วย (DRC 100%) ราคาปรับขึ้นมาอยู่ที่ 58 บาทต่อกิโลกรัม
- ยางก้อนถ้วย (DRC 70%) ราคาปรับขึ้นมาอยู่ที่ 40.60 บาทต่อกิโลกรัม
ศ.ดร.นฤมล ชี้แจงว่า การที่ราคายางปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในขณะนี้ เป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และคณะกรรมการเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง ในการขอความร่วมมือเกษตรกรเลื่อนฤดูกาลเปิดกรีดยางออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมที่จะเริ่มในเดือนพฤษภาคม 2568 เป็นเริ่มในเดือนมิถุนายน 2568
มาตรการดังกล่าวนี้ จะส่งผลให้ผลผลิตยางพาราหายไปจากระบบตลาดโลกไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัน หากคำนวณจากราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ 72.04 บาทต่อกิโลกรัม (ข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน 2568) จะคิดเป็นมูลค่าผลผลิตที่หายไปกว่า 14,400 ล้านบาทในช่วงเวลาดังกล่าว การลดลงของอุปทานอย่างฉับพลันนี้ ได้สร้างแรงกดดันต่อสมดุลของตลาดโลก ทำให้ตลาดเกิดความตื่นตัวและกังวลว่าซัพพลายยางจะขาดแคลน ส่งผลให้ผู้ค้าที่มีคำสั่งซื้อต้องเร่งซื้อยางเก็บไว้เพื่อส่งมอบ ดันให้ตลาดยางพารากลับมาคึกคักอีกครั้ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวย้ำถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงฯ ในการเร่งแก้ไขปัญหาราคายาง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรโดยเร็วที่สุด โดยในระหว่างช่วงที่เลื่อนการเปิดกรีดนี้ เกษตรกรชาวสวนยางสามารถใช้เวลาในการบำรุงรักษาต้นยางให้แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต
พร้อมกันนี้ กยท. ได้เตรียมให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โดยจะสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) ผ่านโครงการสินเชื่อระยะสั้นสำหรับสถาบันเกษตรกร เพื่อใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อสถาบัน และที่สำคัญคือปลอดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป
นอกจากนี้ ศ.ดร.นฤมล ยังได้มอบนโยบายให้ กยท. พิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการยางที่รับซื้อยางพารา โดยการช่วยชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะต้องมีเงื่อนไขในการวางแผนการซื้อโรงงานผลิตยางล้อ เพื่อรองรับผลผลิตของเกษตรกรมาแปรรูป เป็นการช่วยดึงอุปทานยางออกจากตลาด และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยให้มีมาตรฐาน สร้างโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ และผลักดันการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ยางพาราของ กยท. ในอนาคต