ฝนหลวงปลื้ม! สกัดพายุลูกเห็บเหนือ-อีสานสำเร็จ กรมอุตุฯย้ำเตือนพายุฤดูร้อน 9-12 พ.ค.

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติการยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บในพื้นที่เสี่ยงภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยไม่พบรายงานความเสียหายรุนแรง หลังใช้เครื่องบินพร้อมสารฝนหลวงเข้าปฏิบัติการสกัด ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยายังคงแจ้งเตือนประชาชนทั่วประเทศให้เฝ้าระวังพายุฤดูร้อนต่อเนื่องถึงวันที่ 12 พฤษภาคมนี้

นายราเชน ศิลปะรายะ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูกาลจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน มักเกิดปรากฏการณ์พายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ซึ่งอาจนำมาซึ่งลมกระโชกแรงและลูกเห็บ สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรมและเขตชุมชน โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มักได้รับผลกระทบก่อน

อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวต่อว่า จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่แจ้งเตือนว่า ในช่วงวันที่ 9-12 พฤษภาคม 2568 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และฝนตกหนักบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าในบางพื้นที่ ซึ่งจะเริ่มส่งผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน จากนั้นจึงขยายไปภาคอื่น ๆ ในระยะถัดไป สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามและทะเลจีนใต้

จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงได้สั่งการให้หน่วยยับยั้งลูกเห็บและสถานีเรดาร์ฝนหลวงทุกภูมิภาค ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อวางแผนปฏิบัติการบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บให้กับพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด

นายราเชน ได้กล่าวถึงผลการปฏิบัติการล่าสุดว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบมีพื้นที่เสี่ยงเกิดฝนตกหนัก พายุฝนฟ้าคะนอง และมีลูกเห็บตก บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย และจังหวัดพิษณุโลก ทางหน่วยยับยั้งลูกเห็บจังหวัดพิษณุโลกจึงได้วางแผนปฏิบัติการบินด้วยเครื่องบินแบบปรับความดัน ชนิด Super King Air ขึ้นบินปฏิบัติการเมื่อเวลา 13.30 น. ที่ระดับความสูง 21,000 ฟุต และใช้สารฝนหลวงชนิดพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ ซึ่งผลหลังการปฏิบัติการพบว่า ไม่พบลูกเห็บตกในบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย

นอกจากนี้ หน่วยยับยั้งลูกเห็บอีก 4 หน่วย ได้แก่ หน่วยฯ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา และอุดรธานี ก็ได้มีการติดตามสภาพอากาศและปฏิบัติการบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บในวันก่อนหน้านี้ คือวันที่ 1, 6, 7 และ 8 พฤษภาคม 2568 ซึ่งผลการปฏิบัติการก็เป็นที่น่าพอใจ โดยไม่พบรายงานลูกเห็บตกในช่วงเวลาเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี, อำเภอเมือง จังหวัดแพร่, อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน, อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น และอำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้เข้าดำเนินการ

อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ปิดท้ายด้วยความรู้สึกยินดีที่ปฏิบัติการบรรเทาและยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บในช่วงนี้สำเร็จตามเป้าหมาย และไม่พบรายงานความรุนแรงของพายุลูกเห็บในพื้นที่ที่ได้เข้าปฏิบัติการ ซึ่งการปฏิบัติการนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะใช้เครื่องบิน Super King Air ของกรมฯ เอง และเครื่องบิน Alpha Jet ของกองทัพอากาศ นำสารฝนหลวงซิลเวอร์ไอโอไดด์ไปเร่งกระบวนการทางธรรมชาติ ทำให้ผลึกน้ำแข็งในก้อนเมฆเปลี่ยนสถานะเป็นเม็ดน้ำละลาย ตกลงมาเป็นน้ำฝน ซึ่งช่วยบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรลงได้อย่างมาก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *