นักศึกษา มทร.ธัญบุรี เจ๋ง! คิดค้น 2 นวัตกรรมยืดอายุผักผลไม้ ลดใช้สารเคมี เพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตรกร
นักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) โชว์ผลงานนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร คิดค้น 2 ผลิตภัณฑ์เด่น ช่วยยืดอายุผักผลไม้ ลดการใช้สารเคมี และเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร พร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์
ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ล่าสุด นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และการจัดการเทคโนโลยีอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่น่าจับตาถึง 2 ชิ้น ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในภาคปฏิบัติ
ผลงานแรกคือ “ผลิตภัณฑ์ยับยั้งการเกิดสีน้ำตาลในผักผลไม้” เป็นผลงานของ น.ส.มัณฑริกา ศรีเชื้อ และ น.ส.วีริสา ประกอบกิจ ภายใต้การดูแลของ อาจารย์เจนจิรา พกาวัลย์ และ อาจารย์พิรุฬห์รัชย์ ไทยสมัคร ปัญหาสีน้ำตาลที่เกิดขึ้นในผักผลไม้ตัดแต่ง เช่น แอปเปิ้ล เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการจำหน่ายและบริโภค ซึ่งปัญหานี้เกิดจากปฏิกิริยาของเอนไซม์ Polyphenol oxidase และ Peroxidase ในงานวิจัยนี้จึงได้ศึกษาการใช้สาร “ซิสเทอีน” (Cysteine) ซึ่งเป็นสารต้านการเกิดสีน้ำตาลตามธรรมชาติ
น.ส.มัณฑริกา หนึ่งในเจ้าของผลงาน เล่าว่า เนื่องจากสารซิสเทอีนมีความคงตัวต่ำ ทีมวิจัยจึงนำเทคนิคการ “ห่อหุ้มด้วยลิโปโซม” (Liposome) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งและการออกฤทธิ์ การใช้ซิสเทอีนที่ห่อหุ้มด้วยลิโปโซมนี้ สามารถยับยั้งการเกิดสีน้ำตาลในแอปเปิ้ลฟูจิตัดแต่งได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความทนทานต่อการเกิดออกซิเดชั่น รักษาคุณภาพความสดใหม่ ความกรอบของเนื้อแอปเปิ้ล ลดการสูญเสียน้ำหนัก และเพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในระหว่างการเก็บรักษาในตู้เย็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นธรรมชาติสำหรับการถนอมคุณภาพผักผลไม้ตัดแต่ง
สำหรับผลงานชิ้นที่สองคือ “ผลิตภัณฑ์สารเคลือบผิวเสริมสารสกัดมะม่วงหาวมะนาวโห่สำหรับผลผลิตทางการเกษตร” เป็นผลงานของ น.ส.อมรรัตน์ หุ้มไธสง และ นายมณเฑียร ขิมเล็ก โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาชุดเดียวกัน ปัญหาสำคัญของผลไม้สดหลังการเก็บเกี่ยวคือการเน่าเสียจากการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์และการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติ งานวิจัยนี้จึงได้นำสารสกัดจาก “มะม่วงหาวมะนาวโห่” (Carissa carandas) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านจุลชีพและต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติ มาเป็นส่วนประกอบในสารเคลือบผิวผลไม้เพื่อช่วยยืดอายุและคงคุณภาพ
น.ส.อมรรัตน์ เจ้าของผลงาน กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์สารเคลือบผิวนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยจากเชื้อจุลินทรีย์ แต่ยังช่วยคงคุณภาพของผลไม้สดหลังการเก็บเกี่ยวไว้ได้นานขึ้น ที่สำคัญคือสามารถช่วยลดการพึ่งพาสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงในกระบวนการผลิต ซึ่งส่งผลดีต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง
จากการทดสอบกับมะเขือเทศเชอร์รี่ พบว่าสารเคลือบผิวนี้สามารถรักษาคุณลักษณะทางกายภาพและเคมีของมะเขือเทศเชอร์รี่ได้อย่างดีในระหว่างการเก็บรักษา เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของเกษตรกร และมอบทางเลือกในการถนอมอาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ การใช้สารสกัดจากพืชท้องถิ่นอย่างมะม่วงหาวมะนาวโห่ ยังเป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ผลงานทั้งสองชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และการจัดการเทคโนโลยีอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี ในการนำความรู้ทางวิชาการมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาจริงในภาคอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ สร้างรายได้และประโยชน์ต่อสังคมได้ต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาต่อในสาขาวิชานี้ หรือต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรวิทยาศาสตร์และการจัดการเทคโนโลยีอาหาร สามารถดูรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ www.sci.rmutt.ac.th/fstm หรือโทรสอบถามที่ 0-2549-4165 โดยสาขาวิชากำลังเปิดรับนักศึกษาประจำปีการศึกษา 2568