รีวิว Toyota Fortuner Leader S รุ่นใหม่: ตัดออปชันหรู เน้นใช้งาน ราคาเข้าถึงง่าย 1.239 ล้านบาท เหมาะกับใคร?
ครองใจมหาชนมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เปิดตัวรถยนต์อเนกประสงค์ โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ รุ่นแรกเมื่อปี 2547 ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม และทำยอดขายอันดับ 1 ในเซ็กเมนต์รถ PPV มาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด โตโยต้าได้เพิ่มทางเลือกใหม่ในไลน์อัพ ด้วยการเปิดตัวรุ่น Leader S (ลีดเดอร์ เอส) ซึ่งเป็นรุ่นที่ปรับลดออปชันบางอย่างออกไป โดยเฉพาะส่วนที่เน้นความหรูหรา หรือบางอย่างที่อาจเกินความจำเป็น เพื่อเน้นให้เป็นรถสำหรับการใช้งานจริงเป็นหลัก
การปรับกลยุทธ์ครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น ครอบคลุมตั้งแต่ลูกค้าทั่วไป กลุ่มองค์กรภาครัฐและเอกชน ไปจนถึงกลุ่มรถเช่า ด้วยจุดเด่นด้านราคาที่เข้าถึงง่ายขึ้น โดยตั้งราคาค่าตัวไว้ที่ 1.239 ล้านบาท
ทีมข่าวได้นัดหมายกับผู้บริหารสาว ‘แขไข’ สุชญา เชียรแกล้วกล้า รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารการตลาด และประชาสัมพันธ์ ของโตโยต้า เพื่อรับรถรุ่น Leader S มาทำการทดสอบระยะยาว โดยรับรถที่โตโยต้า อะไลฟ์ สำนักงานใหญ่ ย่านบางนา ก.ม.3
ภายนอก: เรียบง่ายแต่ยังคงความสง่างาม
เมื่อมองจากภายนอก ตัวรถยังคงรักษาความอลังการในแบบฉบับของฟอร์จูนเนอร์ไว้อย่างครบถ้วน แต่หากพิจารณาในรายละเอียด จะพบความแตกต่างที่สำคัญ เช่น กระจังหน้าและกันชนหน้าที่เน้นความเรียบง่ายกว่ารุ่นอื่นๆ ไฟหน้าเป็นแบบ Bi-Beam LED พร้อมไฟส่องสว่างเวลากลางวัน (DRL) และไฟตัดหมอกหน้าแบบ LED ส่วนไฟท้ายเป็นแบบ LED Light Guiding ล้ออัลลอยมีขนาด 17 นิ้ว
ภายใน: เน้นฟังก์ชัน อุปกรณ์จำเป็นครบครัน
เปิดประตูเข้ามานั่งตำแหน่งคนขับ สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนคือ การกลับไปใช้ระบบกุญแจสตาร์ตเครื่องยนต์แบบบิด แทนปุ่มกดสตาร์ตในรุ่นอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงการลดทอนออปชันเพื่อเน้นความเรียบง่ายในการใช้งาน
ภายในห้องโดยสารโดยรวมเน้นโทนสีดำและวัสดุผ้าสำหรับเบาะนั่ง (แทนหนัง) กลมกลืนกับแผงคอนโซลและแผงประตูที่บุด้วยหนังสังเคราะห์และผ้าสีดำ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่จำเป็นยังคงมีให้ครบครัน เช่น หน้าจอสัมผัสขนาด 8 นิ้ว รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto และยังทำหน้าที่เป็นจอแสดงภาพจากกล้องมองหลังพร้อมเส้นกะระยะ
ระบบปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติ แยกอิสระซ้าย-ขวา พร้อมระบบกรองฝุ่น PM2.5 ให้ความเย็นฉ่ำตามสไตล์โตโยต้า ช่องเสียบแบบ USB มีมาให้ใช้งาน ส่วนเบรกมือยังคงเป็นแบบก้านดึง ซึ่งบางคนอาจมองว่าดูเชย แต่หลายคนก็ชื่นชอบเพราะใช้งานง่ายและดูเป็นธรรมชาติ
การขับขี่: เดินทางไกล 800 กม. สู่พิษณุโลก
เริ่มต้นการทดสอบในช่วงสายของวันธรรมดาในสภาพการจราจรหนาแน่นเล็กน้อย เลือกใช้โหมดประหยัด (Eco Mode) ทัศนวิสัยด้านหน้าที่สูงใหญ่ช่วยให้มองเห็นสภาพการจราจรได้กว้างไกล ทำให้เลือกเลนได้ถูกต้องและแม่นยำ
การออกตัวไม่ถึงกับพุ่งแรง แต่ก็ไม่รู้สึกอืดอาด การเร่งแซงในสภาพการจราจรติดขัดทำได้ดี เมื่อขึ้นทางด่วนและพ้นช่วงที่รถหนาแน่นได้ จึงเปลี่ยนเป็นโหมดสปอร์ต (Sport Mode) และเพิ่มความเร็วขึ้น เพื่อเดินทางระยะทางกว่า 400 กิโลเมตรไปยังจังหวัดพิษณุโลก และต้องเดินทางกลับภายในวันเดียว
ขุมพลังมาจากเครื่องยนต์ดีเซล 2.4 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 3,400 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 400 นิวตัน-เมตร ที่ 1,600-2,000 รอบต่อนาที ทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ การตอบสนองของเครื่องยนต์และเกียร์ทำได้ไหลลื่น อัตราเร่งต่อเนื่อง
ลองใช้คิกดาวน์เพื่อเร่งแซง พบว่าบางครั้งอาจยังไม่ทันใจเท่าที่ควร แต่เมื่อใช้โหมดเกียร์แมนนวลแบบบวก-ลบ จะให้การตอบสนองที่ฉับไวมากขึ้น
พวงมาลัยในย่านความเร็วสูงมีน้ำหนักที่ดี ไม่ตึงมือเกินไป ช่วยให้ควบคุมรถได้อย่างมั่นใจ แต่ในการใช้งานในเมืองช่วงออกตัวอาจรู้สึกว่ามีน้ำหนักอยู่บ้าง
ช่วงล่างให้ความมั่นใจได้ดีทั้งขณะใช้ความเร็วสูงและเมื่อต้องเปลี่ยนเลนกะทันหัน ไม่มีอาการโคลงเคลงจนน่ากังวล ส่วนความนุ่มนวลนั้นมีมาให้ในระดับหนึ่งตามสไตล์รถ PPV ไม่ถึงกับกระด้างกระเด้งกระดอน
ในการทดสอบระยะทางรวมเกือบ 800 กิโลเมตร (จนไฟเตือนน้ำมันใกล้หมดโชว์ขึ้น) อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ได้อยู่ที่ 12.2 กิโลเมตรต่อลิตร ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจสำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่และมีการใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนดเกือบตลอดเส้นทาง
บทสรุป: ตัวเลือกน่าสนใจสำหรับคนเน้นใช้งาน
สำหรับผู้ที่กำลังมองหารถยนต์อเนกประสงค์ PPV ที่ไม่ได้เน้นออปชันหรูหราหรือเทคโนโลยีขั้นสูงสุด แต่ต้องการรถที่เน้นการใช้งาน มีความทนทาน ขับขี่ได้มั่นใจ และยังคงความเท่ในแบบฉบับฟอร์จูนเนอร์ พร้อมด้วยราคาที่เข้าถึงง่ายขึ้น โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ Leader S ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และไม่ควรมองข้าม
กิตติพงศ์ ศรีเจริญ