สาวเจ้าของร้านหมูกระทะ ร้องทนาย ถูกพนักงานแบงก์ตีสนิท ลวงกู้เงินทำยอด ก่อนยักยอกเกือบ 7 แสน หนีหาย ปล่อยลูกค้าโดนทวงหนี้
บุรีรัมย์ – น.ส.พัชรา อายุ 32 ปี เจ้าของร้านหมูกระทะ พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานการรับและโอนเงินจำนวนมาก เข้าร้องเรียนขอความช่วยเหลือจาก นายวีรยุทธ ศิริเรืองประภา ทนายความ ที่อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ หลังอ้างว่าถูกพนักงานฝ่ายสินเชื่อของธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าในตัวเมืองบุรีรัมย์ หลอกให้ทำเรื่องกู้เงินเพื่อทำยอดให้ตัวเอง ก่อนจะยักยอกเงินจำนวนเกือบ 7 แสนบาทที่เธอโอนคืนให้ไปใช้ส่วนตัว ทำให้เธอต้องกลายเป็นผู้ค้างชำระหนี้กับธนาคารทั้งที่ได้ชำระเงินคืนไปหมดแล้ว
น.ส.พัชรา เปิดเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า มีพนักงานฝ่ายสินเชื่อของธนาคารดังกล่าว ซึ่งรู้จักกับเพื่อนในกลุ่ม ได้เข้ามาตีสนิทจนเธอตายใจ ก่อนจะหลอกล่อให้ช่วยทำเรื่องกู้เงิน โดยอ้างว่าเพียงแค่ต้องการทำยอดสินเชื่อเพื่อให้ได้ค่าคอมมิชชั่นเท่านั้น เมื่อเห็นว่าเป็นคนรู้จักและทำงานในธนาคาร อีกทั้งยังเป็นผู้ดูแลเรื่องการปล่อยสินเชื่อด้วยตัวเอง เธอจึงยอมทำเรื่องกู้เงินให้ ทั้งที่ในขณะนั้นไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้เลย
ผู้เสียหายเล่าต่อว่า เมื่อเรื่องกู้เงินผ่านการอนุมัติจากธนาคาร เงินจำนวน 699,645 บาท จากยอดกู้ 700,000 บาท (ส่วนต่างถูกหักค่าประกันเงินกู้) ได้ถูกโอนเข้าบัญชีของเธอเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 หลังจากได้รับเงิน เธอก็ได้ทำการโอนเงินทั้งหมดคืนให้กับพนักงานสินเชื่อคนดังกล่าว โดยโอนยอดแรกจำนวน 400,000 บาท เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 และทยอยโอนส่วนที่เหลือคืนไปเป็นงวดๆ ครั้งละ 5,000 บาท ถึง 60,000 บาท จนครบตามยอดเงินกู้ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยโอนเงินทั้งหมดเข้าบัญชีส่วนตัวของพนักงานคนนั้น เนื่องจากเขาแจ้งว่าจะนำเงินเข้าสู่ระบบเพื่อชำระคืนธนาคารให้เอง
แต่เรื่องมาแดงขึ้นเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2567 มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายเร่งรัดหนี้ของธนาคารโทรมาแจ้งว่า เธอค้างชำระเงินกู้ ทำให้เธอตกใจเป็นอย่างมาก เพราะเข้าใจมาตลอดว่าเงินที่โอนคืนให้พนักงานไปนั้นได้ถูกนำไปชำระหนี้แล้ว เธอจึงรีบโทรติดต่อพนักงานคนดังกล่าวทันที แต่เขากลับอ้างว่าได้นำเงินเข้าเป็นยอดโอนลอยไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้นำเข้าระบบ และจะจัดการให้เรียบร้อย เธอเริ่มไม่สบายใจจึงไปตรวจสอบกับธนาคารโดยตรง และพบว่า มีการชำระเงินกู้ไปเพียงแสนกว่าบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือยังคงค้างชำระอยู่ เธอจึงตัดสินใจนำหลักฐานเข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ ในเดือนกันยายน 2567
น.ส.พัชรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจครั้งแรก พนักงานสินเชื่อคนดังกล่าวยอมรับสารภาพ และรับปากว่าจะหาเงินมาทยอยจ่ายคืนให้ แต่จนถึงกำหนดก็ไม่เป็นไปตามที่รับปาก และล่าสุดก็ไม่สามารถติดต่อได้อีก ตอนนี้เธอเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะนอกจากจะถูกหลอกให้เป็นหนี้แล้ว ยังถูกทางธนาคารเร่งรัดทวงหนี้อีก ทั้งที่ได้ชำระเงินคืนให้พนักงานไปครบถ้วนแล้ว แต่กลับถูกยักยอกไปใช้ส่วนตัว เท่าที่ทราบข้อมูล พนักงานคนนี้น่าจะนำเงินไปใช้กินเที่ยวและเปย์เด็ก เนื่องจากเขาเป็นกลุ่ม LGBTQ เธอพยายามดำเนินการทุกวิถีทาง ทั้งแจ้งความ และทำเรื่องร้องเรียนไปยังธนาคารสาขาที่เกิดเรื่อง แต่ทางธนาคารกลับแจ้งเพียงว่าได้ไล่พนักงานคนดังกล่าวออกไปแล้ว ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ หนำซ้ำยังเร่งรัดทวงหนี้กับเธอ และให้ไปติดตามทวงเงินคืนจากพนักงานที่เป็นคนยักยอกไปเอง ซึ่งเธอมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงอยากฝากถึงธนาคารแห่งประเทศไทยให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย อย่าปล่อยให้ธนาคารปัดความรับผิดชอบเช่นนี้
ด้านนายวีรยุทธ ศิริเรืองประภา ทนายความ ระบุว่า เบื้องต้นได้ทำเรื่องไปยังธนาคารเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด พร้อมทั้งขอให้ธนาคารพิจารณาระงับการดำเนินคดีกับผู้เสียหายรายนี้ และทางธนาคารควรจะดำเนินการติดตามทวงเงินคืนจากพนักงานของตนเองก่อน เนื่องจากในขณะที่พนักงานคนดังกล่าวกระทำความผิด ยังมีสถานะเป็นพนักงานของธนาคารฯ ดังนั้น ธนาคารจึงควรต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหายซึ่งเป็นลูกค้าด้วย และจากการรวบรวมข้อมูล ทราบว่ามีลูกค้าที่ถูกพนักงานสินเชื่อคนนี้ยักยอกเงินในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วอย่างน้อย 3 ราย ส่วนความคืบหน้าทางคดีอาญาที่ผู้เสียหายรายนี้ได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ ล่าสุดทราบว่า พนักงานฝ่ายสินเชื่อคนดังกล่าวถูกออกหมายจับแล้ว