กยท.-เกษตรกรยางผนึกกำลัง ‘เลื่อนกรีด’ สู้ตลาดบิดเบือน มั่นใจ ‘มิ.ย. 68’ ราคายางพุ่ง

กรุงเทพฯ – เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศพร้อมใจผนึกกำลังกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประกาศเลื่อนการเปิดฤดูกาลกรีดยางออกไปเป็นระยะเวลา 1 เดือน จากเดิมที่มักจะเริ่มในเดือนพฤษภาคม 2568 ไปเป็นเดือนมิถุนายน 2568 แทน เพื่อเป็นมาตรการเชิงรุกในการปกป้องและสร้างเสถียรภาพให้กับราคายางพารา หลังเผชิญกับภาวะราคาผันผวนและลดลงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากการบิดเบือนกลไกตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำประกาศเรื่องภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ มาสร้างความตื่นตระหนกในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ทั้งที่ในความเป็นจริงความต้องการใช้ยางทั่วโลกยังคงสูงกว่าปริมาณผลผลิตที่มีอยู่

ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เปิดเผยว่า มาตรการเลื่อนฤดูกาลเปิดกรีดยางครั้งนี้ ไม่ใช่การตอบโต้ แต่เป็นการดำเนินการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรและระบบยางพาราโดยรวม ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ สาเหตุที่ราคายางลดลงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากความตื่นตระหนกของผู้ประกอบการและนักลงทุนบางรายในตลาดล่วงหน้า ซึ่งใช้ประเด็นการประกาศนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ มาเป็นเครื่องมือในการบิดเบือนตลาด ทั้งที่ข้อมูลจริงชี้ชัดว่าปริมาณความต้องการใช้ยางทั่วโลกสูงกว่าปริมาณผลผลิตประมาณ 2% และสต๊อกยางทั่วโลกก็อยู่ในระดับต่ำ

การที่สหรัฐอเมริกาได้เลื่อนการบังคับใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้ายางออกไปอีก 90 วัน ยิ่งเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้นำเข้าในสหรัฐฯ เร่งสั่งซื้อยางเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ แต่เมื่อประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกประกาศชะลอการผลิตออกไป ก็จะส่งผลให้ปริมาณยางในตลาดโลกลดลงประมาณ 150,000 – 300,000 ตัน ซึ่งจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันด้านอุปสงค์ ทำให้ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกตลาด

กยท. มั่นใจว่า เมื่อถึงเดือนมิถุนายน 2568 ที่เกษตรกรจะกลับมาเปิดกรีดยาง ราคายางจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าราคาในปัจจุบันอย่างแน่นอน แต่หากราคายังคงไม่กลับคืนสู่ระดับที่เป็นธรรม กยท. พร้อมที่จะดำเนินมาตรการอื่นๆ อย่างเต็มรูปแบบเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกร

ด้านราคาล่าสุด เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยหลังสิ้นเดือนเมษายน 2568 ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (FOB) ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 78.14 บาทต่อกิโลกรัม จากที่เคยลดลงไปต่ำสุดที่ 68.43 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 และคาดว่าจะมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในระหว่างที่เกษตรกรเลื่อนการกรีดยาง นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า กยท. จะเข้าให้การสนับสนุนเกษตรกรอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษาสวนยางให้แข็งแรงสมบูรณ์ เช่น การใส่ปุ๋ย การใช้น้ำหมักชีวภาพ หรือการนำนวัตกรรมฮอร์โมนเอทธิลีนมาใช้อย่างถูกต้อง เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ถึง 2 เท่า เมื่อกลับมาเปิดกรีด

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนทางการเงินผ่านโครงการสินเชื่อระยะสั้นจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(3) สำหรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อสัญญา อัตราดอกเบี้ยร้อยละศูนย์ เป็นระยะเวลา 4 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2568 เพื่อให้สถาบันเกษตรกรฯ สามารถจัดหาปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ที่มีคุณภาพในราคาที่เข้าถึงง่าย นำไปจำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งยกระดับความเข้มแข็งของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรยางพารา

สำหรับเกษตรกรที่ได้เปิดกรีดยางไปแล้ว กยท. ได้ขอความร่วมมือให้นำยางเข้าร่วมโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรฯ ซึ่ง กยท. จะดำเนินการต่อเนื่องเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในระยะยาว ควบคู่ไปกับการเจรจากับผู้ประกอบการจีนเพื่อขับเคลื่อนการลดภาษีนำเข้ายางจากไทยภายใต้กรอบความร่วมมือกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสทางการค้าและช่วยยกระดับราคายางในที่สุด

ด้านตัวแทนเกษตรกรและผู้ประกอบการรมควันยางต่างยืนยันความพร้อมในการร่วมมือกับ กยท. โดย นายสวัสดิ์ ลาดปาละ รองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. ระดับประเทศ ยืนยันว่า สมาชิกเครือข่ายพร้อมเลื่อนการกรีดยางตามมาตรการ กยท. เพื่อผลักดันราคายางให้สูงขึ้น ขณะที่ นายสมจิต คล้ายประสงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตยางแผ่นรมควันภาคใต้ ระบุว่า หลังจากมีข่าวภาษีสหรัฐฯ โรงงานรับซื้อยางบางแห่งได้ลดราคารับซื้อลงทันที 10 บาท ทั้งที่ภาษียังไม่บังคับใช้ ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกร ดังนั้นทางสมาคมฯ และเครือข่ายจึงพร้อมชะลอการเปิดโรงรมยางออกไปอีก 1 เดือน เช่นเดียวกับเกษตรกร เพื่อร่วมกันผลักดันให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นอย่างเป็นธรรม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *