ราชมงคลผนึกกำลังรับนโยบาย ‘ศุภมาส’ ผลักดัน ‘AI University’ และพัฒนาทักษะอนาคต ยกระดับการศึกษาไทย
หัวหิน, ประจวบคีรีขันธ์ – 24 เมษายน 2568 – รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) ได้นำเสนอวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง ต่อ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ในโอกาสที่รัฐมนตรีเดินทางมามอบนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ ในงานประชุมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 9 มทร. ณ โรงแรมฮิลตัน หัวหิน
รศ.ดร.อุดมวิทย์ ได้แสดงความพร้อมของกลุ่ม มทร. ในการขานรับและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีศุภมาส โดยเฉพาะแนวคิด “2 ลด 2 เพิ่ม” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการลดภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา พร้อมกับการเพิ่มทักษะและโอกาสในการเรียนรู้ เพื่อสร้างอาชีพที่มั่นคงสำหรับอนาคตของชาติ
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการผลักดันนโยบายเชิงรุกอื่นๆ เช่น ระบบ National Credit Bank ที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถสะสมและเทียบโอนหน่วยกิตได้อย่างยืดหยุ่น รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม Skills Future Thailand ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ SkillsFuture ของประเทศสิงคโปร์ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และการพัฒนาทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง ผ่านระบบคูปองฝึกอบรมและการทำ Skill Mapping เพื่อให้นักศึกษาและประชาชนสามารถเลือกพัฒนาทักษะที่จำเป็น เช่น ทักษะดิจิทัล, ทักษะอุตสาหกรรมสมัยใหม่, และทักษะผู้ประกอบการ พร้อมสนับสนุนด้วยระบบ Skill Transcript ที่แสดงผลความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละบุคคล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
ประเด็นสำคัญอีกประการที่ ทปอ.มทร. พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่คือ การสานต่อนโยบาย “อว. for AI” โดยเฉพาะในส่วนของ AI for Education เพื่อผลักดันให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลก้าวสู่ “AI University” โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษาไทยให้มี AI literacy สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างชาญฉลาด และประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพในโลกยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางดังกล่าว มุ่งเน้นให้คนไทย “ใช้ AI ได้” และ “สร้าง AI เป็น” อย่างมีประสิทธิภาพและมีจริยธรรม โดยตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมคือ ภายในปีที่ 2 ของการศึกษา บัณฑิตไทยร้อยละ 90 จะมีความรู้พื้นฐานด้าน AI และร้อยละ 50 จะมีทักษะการใช้ AI อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการผลิตบุคลากรด้าน AI ระดับต่างๆ ให้ได้อย่างน้อย 30,000 คน ภายในระยะเวลา 3 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ระดับผู้เชี่ยวชาญ (AI Professional) วิศวกร (AI Engineer) จนถึงผู้เริ่มต้น (AI Beginners)
ท้ายสุด รศ.ดร.อุดมวิทย์ แสดงความเชื่อมั่นว่า วิสัยทัศน์และนโยบายที่มีเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจนของรัฐมนตรีศุภมาส จะเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญในการยกระดับระบบอุดมศึกษาไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล และมีส่วนสำคัญในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและศักยภาพสูงสุดให้กับประเทศชาติอย่างแท้จริง