ปทส.จี้โรงชำแหละหมูบางซื่อ เร่งแก้ปัญหา สกปรก-น้ำเสีย กระทบชาวบ้าน สั่งเด็ดขาดภายใน 30 วัน
ปทส. ร่วมกับเขตบางซื่อ เข้าตรวจสอบโรงชำแหละหมูย่านบางซื่อ หลังพบปัญหาสกปรก ไม่ถูกสุขอนามัย และปล่อยน้ำเสียกระทบชาวบ้านในพื้นที่ เจ้าหน้าที่สั่งการให้ผู้ประกอบการเร่งปรับปรุงแก้ไขภายใน 30 วัน
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 พลตำรวจตรี วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผบก.ปทส.) ได้สั่งการให้ พันตำรวจเอก สมบัติ มาลัย รักษาราชการแทน ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รรท.ผกก.1 บก.ปทส.) พร้อมด้วย พันตำรวจโท กษิดิ์เดช เจริญลาภ รองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ พันตำรวจโท ธานุพันธ์ สุระสะ สารวัตร กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ นางสาว ณภัชชา ขวัญยิ่งโสภา หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตบางซื่อ เข้าตรวจสอบโรงชำแหละซากสุกรแห่งหนึ่ง ในพื้นที่แขวงบางซื่อ เขตบางชื่อ กรุงเทพมหานคร
การเข้าตรวจสอบครั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปทส. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ได้เข้าจับกุมผู้ประกอบกิจการโรงชำแหละซากสุกรแห่งหนึ่งในเขตบางซื่อ พร้อมอายัดซากสุกรน้ำหนักรวม 1,800 กิโลกรัม โดยพบว่ามีการดำเนินคดีในข้อหาไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคระบาด ในการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์เข้าเขตโรคระบาดชั่วคราว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ประจำเขต เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพมหานครถูกประกาศให้เป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชนิดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF
นอกจากนี้ ในการตรวจสอบครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 เจ้าหน้าที่ยังได้ลงพื้นที่และพบปัญหาด้านสุขอนามัยภายในสถานประกอบการอย่างร้ายแรง โดยพบว่าสถานที่ประกอบกิจการไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นแหล่งที่อาจก่อให้เกิดการแพร่เชื้อโรค และสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ ยังพบหลักฐานชัดเจนคือ ซากสุกรบางส่วนถูกนำมาวางกองอยู่บนพื้นทางเดินโดยไม่มีภาชนะหรือสิ่งใด ๆ ปกคลุม ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกสุขลักษณะอย่างยิ่งและสุ่มเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรค
เจ้าหน้าที่ยังได้ตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียของโรงชำแหละดังกล่าว พบว่ามีถังบำบัดน้ำเสีย (SAD) ที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้เศษเนื้อ ไขมัน และน้ำทิ้งจากกระบวนการชำแหละไม่ผ่านการบำบัดที่ถูกต้องตามหลักมาตรฐาน ก่อนที่จะถูกปล่อยระบายลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะโดยตรง ซึ่งการกระทำดังกล่าวนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างมลพิษทางน้ำ และก่อความเดือดร้อนด้านกลิ่นเหม็นให้กับประชาชนในบริเวณใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง
จากปัญหาด้านสุขอนามัยและปัญหามลพิษทางน้ำที่ตรวจพบอย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่ ปทส. และเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตบางซื่อ จึงได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ออกหนังสือแนะนำและคำสั่งให้ผู้ประกอบการโรงชำแหละแห่งนี้ต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยด่วนและอย่างเป็นระบบ ได้แก่
- ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียและรางระบายน้ำภายในสถานประกอบการให้ได้มาตรฐานตามกฎหมายกำหนด และจะต้องดำเนินการให้แน่ใจว่าน้ำทิ้งทั้งหมดผ่านการบำบัดที่ถูกต้องก่อนทำการระบายลงสู่ท่อสาธารณะ
- ดำเนินการทำความสะอาดสถานประกอบการตามหลักสุขาภิบาลเป็นประจำทุกวันอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรคและสิ่งสกปรก
- ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ถูกสุขลักษณะในการสะสมหรือจัดเก็บอาหาร รวมถึงซากสุกร ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่ตรวจพบทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 30 วันนับจากวันที่ได้รับคำสั่งอย่างเป็นทางการ หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ยังตรวจพบว่าผู้ประกอบการยังไม่ดำเนินการแก้ไขตามคำสั่ง อาจมีการพิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวดและเด็ดขาดต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่าสถานประกอบการแห่งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีกต่อไป